วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ฝนดาวตกคนคู่ (Geminids)

คืนวันที่ 12-13 ธันวาคมนี้ ผมมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจมากเหตการณ์หนึ่งมาแนะนำให้ทุกท่านได้มีโอกาสชมกันนะครับ

นั่นก็คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่าฝนดาวตกนั่นเอง

แต่ปรากฏการณ์ฝนดาวตกมันเป็นอย่างไรกัน

ก็ขออนุญาตอธิบายได้ตามความรู้ที่ผมมีดังนี้ครับ
ปรากฏการฝนดาวตก คือ ปรากฏการที่มีการตกของอุกกาบาตหรือที่เราเรียกกันว่า ดาวตก หรือผีพุ่งไต้ ตกจากท้องฟ้ามองเห็นเป็นเส้นแสงสวยงามปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก คล้ายกับฝนของดวงดาวที่กำลังตกจากท้องฟ้าครับ


แล้วมันเกิดจากอะไรกันล่ะ??
ปรากฏการฝนดาวตกเกิดขึ้นได้จากการที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยได้มีวงโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ โดยโคจรตัดผ่านวงโคจรของโลกและได้ทิ้งเศษฝุ่น และวัตถุขนาดตามเส้นทางโคจรที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยนั้นผ่านมาครับ
เมื่อโลกได้โคจรผ่านบริเวณที่ดาวหางดังกล่าวได้ผ่านมา แรงดึงดูดของโลกก็จะดึงดูดเศษฝุ่น เศษฝุ่นผงจำนวนมากที่ดาวหางได้ทิ้งไว้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศทำให้เกิดความร้อนและเผาเศษวัตถุนั้นจนไหม้หายวับไปภายในเวลาแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ทำให้เรามองเห็นเป็นเส้นสว่างสวยงามเป็นจำนวนมาก คล้ายกับสายฝนเราจึงเรียก ปรากฏการนี้ว่า ฝนดาวตก (Meteors Shower) ยังไงล่ะครับ

แล้วฝนดาวตกที่กำลังจะเกิดขึ้นนี่ล่ะเป็นอย่างไร??

ฝนดาวตกที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีชื่อว่าฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteors shower) หรือฝนดาวตกคนคู่ จะเกิดขึ้นช่วงประมาณ วันที่ 7-15 ธันวาคม ของทุกปี และจะตกมากที่สุดในคืนวันที่ 12-14 โดยจมีอัตราการตก 50-100 ดวงต่อชั่วโมง จุดศูนย์กลางการตก (Radiant) ใกล้กับดาวคัสเตอร์ (Castor) ในกลุ่มดาวคนคู่ (GEMINI)(หาตำแหน่งดาวคนคู่ได้จากโปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium คลิกเพื่อดาว์นโหลดโปรแกรมฟรีครับ)

ภาพจากhttp://www.windows.ucar.edu/asteroids/images/asteroid_3200_phaethon_orbit_sm.gif
เข้าใจว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากแกนกลางของดาวหาง ที่สลายตัวหมดแล้ว กลายเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า แฟทอน(3200Phaethon) ในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจในฝนดาวตกเจมินิดส์คือจะมีโอกาสให้เราเห็นดาวตกสว่างมากๆ ที่เรียกว่า ลูกไฟ หรือ Fire ball การสังเกตฝนดาวตกนี้ กลุ่มดาวคนคู่จะขึ้นจากขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือเล็กน้อย และในปีนี้จะเริ่มเห็นฝนดาวตกได้ตั้งแต่เวลา 21.00 น.เป็นต้นไป แม้ปีนี้จะมีอุปสรรค์จากการที่เวลาที่เริ่มมีการตกจะมีแสงจันทร์รบกวนค่อนข้างมาก เป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดด้วย และเป็นฝนดาวตกที่มีขนาดของลูกไฟไม่ใหญ่มากเท่ากับฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หรือลีโอนิดส์ แต่ก็มีอัตราการตกต่อชั่วโมงค่อนข้างสูง ถ้าอยู่ในสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิทและไม่มีแสงรบกวนมากเกินไป ก็น่าจะมองเห็นฝนดาวตกกลุ่มนี้ได้ชัดเจนพอสมควร ก็ถือได้ว่าฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่เป็นฝนดาวตกที่น่าสนใจมากอีกกลุ่มหนึ่งเลยครับ


การสังเกตหรือการชมฝนดาวตกนั้นจริงๆแล้วก็สามารถชมได้หลายครั้งต่อปี ตามที่โลกโคจรผ่านแนวการโคจรของดาวหางซึ่งมีอยู่หลายจุด แต่ในแต่ละปีจะมีจำนวนหรือความถี่ของการตกมากน้อยไม่เท่ากัน รวมทั้งช่วงเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ว่าอยู่ในช่วงเวลาไหน เช่นถ้าเกิดฤดูฝนก็จะมองเห็นได้ยากยิ่งขี้น

ปรากฏการฝนดาวตกนั้นจะสามารถสังเกตจากท้องฟ้าได้แทบทุกที่ในประเทศ แต่สำหรับในเมืองใหญ่นั้นก็จะมีโอกาสมองเห็นได้น้อยเนื่องจากมีมลภาวะและฝุ่นผงในอากาศมาก ทั้งยังมีแสงไฟรบกวนอีกด้วย ถ้ามีโอกาสหรือสามรถเดินทางไปเฝ้าชมหรือสังเกตการณ์ในสถานที่ที่ห่างไกลจากเมือง ก็จะทำให้เราสามารถชมปรากฏการฝนดาวตกได้ชัดเจนและสวยงามมากกว่าในเมืองหลายเท่าครับ
ส่วนวิธีการสังเกตฝนดาวตกนั้นก็ คือ ยืนหรือนั่ง(แต่จะให้ที่ดีที่สุดคือควรนอนราบไปเลยครับ) โดยหันหน้าไปทางกลุ่มดาวที่เป็นจุดกำเนิด ในฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ให้มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยในช่วงหัวค่ำ และมองไปบริเวณกลางท้องฟ้าในตอนดึก (กลุ่มดาวที่เป็นศูนย์กลางฝนดาวตกจะขึ้นสูงจากขอบฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆครับ) มองท้องฟ้ารอบกลุ่มดาวกว้างๆ เท่านี้ท่านก็จะได้ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้อย่างมีความสุขแล้วครับ

การเตรียมการชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก
1. เตรียมอุปกรณ์ในการสังเกต ได้แก่
- ไฟฉาย - แผนที่ดาว - เข็มทิศ (ถ้ามี)
- กล้องดูดาว หรือกล้องส่องทางไกล (ถ้ามี)
2. แต่งกายให้รัดกุมและเหมาะสมกับสภาวะ
อากาศ ควรสวมหมวกป้องกันน้ำค้าง
3. เตรียมเสื่อ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาหารและน้ำดื่มตามความเหมาะสม
4. ไม่ควรไปโดยลำพัง ควรไปดูเป็นหมู่คณะ เด็กควรมีผู้ปกครองดูแล
5. รักษาความสะอาด และรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในบริเวณที่ใช้ชมปรากฏการ


**แหล่งข้อมูล**
โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium จาก http://www.stellarium.org
สมาคมดาราศาสตร์ไทย
http://thaiastro.nectec.or.th
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ http://www.lesaproject.com/

ไม่มีความคิดเห็น: