วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium


วิชาดาราศาสตร์เป็นวิชาที่สร้างปัญหาให้กับครูผู้สอนวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิชาที่ดูไกลตัว และยากต่อการอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจได้โดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทรงกลมท้องฟ้า การเคลื่อนที่ของกลุ่มดาว ดวงดาวและกลุ่มดาวต่างๆบนท้องฟ้า การอธิบายโดยตัวผู้สอนเองอาจไม่สามารถสร้างภาพให้ผู้เรียนเข้าใจได้มากพอ การมีสื่อที่จะสามารถทำให้เห็นภาพของท้องฟ้าได้อย่างชัดเจน ย่อมสามารถช่วยเป็นสื่อให้คุณครูทุกท่านได้นำไปใช้แสดงให้ผู้เรียนได้เห็นภาพของเรื่องราวทางดาราศาสตร์ และเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

โปรแกรมท้องฟ้าจำลองเป็นโปรแกรมที่ใช้เป็นสื่อการสอนทางดาราศาสตร์ชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการสอนวิชาดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดียิ่งชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมหรือแม้แต่ในปัจจุบันก็อาจจะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าไรนักในการเรียนการสอนดาราศาสตร์ โปรแกรมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกัน เช่น โปรแกรม Starry Night เป็นโปรแกรมท้องฟ้าจำลองที่อาจจะมีใช้อยู่บ้างในสถานศึกษาบางแห่ง และหน่วยงานที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์ เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหามาใช้ในราคาที่ค่อนข้างแพง โดยเฉพาะถ้าเป็นโปรแกรมรุ่นใหม่ๆที่มีระบบการใช้งานหรือรายละเอียดการควบคุมที่ซับซ้อนจะมีราคาตั้งแต่หลักหลายพันบาทจนถึงหลายหมื่นบาทเลยทีเดียว
แต่สำหรับโปรแกรมที่จะนำมานำเสนอให้คุณครูและท่านผู้ปกครองได้รู้จักและแบ่งปันกันนำไปใช้กันนี้เป็นโปรแกรมท้องฟ้าจำลองที่แจกฟรีสำหรับนำไปใช้เพื่อการศึกษา มีชื่อเรียกว่า Stellarium มีลักษณะเป็นซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลองแบบ 3 มิติ แสดงภาพท้องฟ้าเหมือนจริง สามารถสภาพของท้องฟ้า ดวงดาว และยังเลือกแสดงเส้นกลุ่มดาว รูปภาพกลุ่มดาว ชื่อของดวงดาวต่างๆ ชื่อกลุ่มดาวที่เป็นกลุ่มดาวสากล รวมถึงจำลองการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า และยังเลือกเวลาและสถานที่ที่ใช้ในการสังเกตได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้สอนดูดาวประกอบท้องฟ้าจริง หรือใช้สอนประกอบการใช้แผนที่ดาว ถ้าท่านที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโปรแกรมนี้ ที่ http://www.stellarium.org

ปัญหาอย่างหนึ่งของโปรแกรมนี้และโปรแกรมท้องฟ้าจำลองอื่นๆก็คือ ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอังกฤษในเมนูต่างๆ ทำให้หลายท่าน รวมทั้งผมเองต้องปวดหัวกับการแปลภาษาอังกฤษเหล่านี้มาเป็นภาษาที่ผมเข้าใจได้อยูพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์ของมันก็คุ้มอยู่พอสมควรครับ และนอกจากนี้ยังมีผู้ใหญ่ใจดีได้ทำคู่มือการใช้งานที่เป็นภาษาไทยให้เราได้ทำความเข้าใจกันได้ง่ายๆแล้วด้วย ซึ่งต้องขอบคุณทาง โครงการ LESA ที่ย่อมาจาก Learning module on Earth Science and Astronomy ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างหอดูดาวเกิดแก้ว ของท่าน อ.ฐากูล เกิดแก้ว โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. มาสร้างสื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศให้คุณครู และผู้ที่สนใจได้นำไปใช้กันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์โลก และอวกาศของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นครับ ถ้าท่านใดสนใจก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.lesa.in.th ได้เลยครับ แต่ถ้าท่านไม่ได้รีบอะไรและไม่อยากจะค้นด้วยตนเอง ผมเองก็เสนอตัวจะนำสื่อต่างๆจากหลายๆที่มาแนะนำให้ท่านรู้จัก และใช้ความรู้เท่ามีอยู่เล็กน้อยของผมเองช่วยอธิบายวิธีใช้เพิ่มเติมในบางส่วนให้ทุกท่านได้นำไปใช้ได้อย่างมีความเข้าใจและสนุกกับการเรียนรู้มากยิ่งขึ้นครับ

สำหรับโปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium จะไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ http://www.stellarium.org เลยก็ได้ครับ หรือดาวน์โหลดจากลิงค์ข้างล่างนี้ได้เช่นกันครับ

http://www.ziddu.com/download/2855540/stellarium.rar.html

สำหรับคู่มือการใช้งานภาษาไทยนี้เป็นผลงานของ อ.วิเชียร เพียงโงก ร่วมกับ อ.ฐากูร เกิดแก้ว และเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการ LESA ก็ขอให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษานะครับ และเวลานำไปใช้ก็อย่าลืมอ้างอิงแหล่งที่มาและผู้จัดทำด้วยนะครับ

http://www.ziddu.com/download/2855583/how_to_use_stellarium-v0.9.0.doc.html

หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของทุกท่านที่จะนำไปศึกษาและทดลองใช้แล้วนะครับ จะให้ดีก็ควรจะศึกษาพื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์เพิ่มเติมด้วยนะครับจะได้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งผมเองก็จะพยายามหาขอมูลทางด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมานำเสนอให้ทุกท่านได้ร่วมกันศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยๆครับ หากมีคำถามหรือจะแนะนำหรือติชมใด้ๆก็แนะนำมาได้เลยครับ เพื่อที่เราจะได้ศึกษาไปพร้อมๆกัน ผมเชื่อว่าการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กันจะเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของเราได้ดีที่สุด โดยพูดคุยกันผ่านระบบความคิดเห็นหรืออีเมลและMSN ได้ที่ orca_hamoo18@hotmail.com ครับ ดาราศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่ยาก และเป็นวิชาที่น่าสนใจมากๆจริงๆครับ อยากให้ทุกท่านได้ลองศึกษากันดูครับ

***แหล่งข้อมูล***

เว็บไซต์โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium http://www.stellarium.org
เว็บไซต์โครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ http://www.lesa.in.th

1 ความคิดเห็น:

ke_si_lee กล่าวว่า...

This blogger has very benefit and interesting for everyone.








Thanks for this blogger.