วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ดาวกับวรรณคดีไทย

ถ้าบอกว่าคนไทยเราเก่งดาราศาสตร์มาแต่โบราณ ท่านจะเชื่อกันไหมครับ จริงๆแล้วคนไทยรู้จักการดูดาวมานานมาก ยกตัวอย่างเช่นในกลอนบทหนึ่งที่น่าจะเคยได้ยินกัน

สักวาดาวจระเข้ก็เหหก
ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว
น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
ลมเรื่อย เรื่อย เฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ
ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
สกุณากาดุเหว่าก็เร่าร้อง
ดูแสงทองจับขอบฟ้าขอลาเอย
บทกลอนนี้กล่าวถึง ดาวจระเข้ที่ไทยใช้เรียก "ดาวหมีใหญ่" หรือดาว Ursa Major ที่เป็นชื่อเรียกในกลุ่มดาวนี้ในแผนที่ดาวสากลครับ แต่ละประเทศก็จะเรียกไปตามพื้นที่หรือตามวัฒนธรรมของตนเอง เช่นที่เราเรียกดาวกลุ่มนี้ว่าดาวจระเข้ ก็เพราะบ้านคนไทยเรามักตั้งอยู่ริมน้ำ และได้พบเห็นจระเข้ได้บ่อย เมื่อเห็นภาพดาวกลุ่มนี้(ดูเฉพาะบริเวณลำตัวที่ยาวคล้ายลำตัวจรเข้และหางที่ยาวครับ)
สำหรับชาวต่างชาติ(โดยเฉพาะทางยุโรป) หลายประเทศก็จะมีหมีเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ เมื่อเห็นภาพกลุ่มดาวนี้ก็เรียกเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ บางประเทศก็จะเรียกแตกต่างกันไปเช่น ดาวกระบวยใหญ่ (ดูเฉพาะบริเวณสะโพกและหางของหมีจะเหมือนกับกระบวยตักน้ำครับ) หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองยังเรียกต่างกันเลยนะครับ คนไทยทางภาคเหนือจะเรียกว่าดาวช้าง (น่าจะดูกลับด้านหางของหมีเป็นงวงช้างนะครับถึงจะดูเหมือนช้างครับ)

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โปแกรมท้องฟ้าจำลองและระบบสุริยะจำลอง(อีกครั้ง)


จบงานไปอีกหนึ่งงาน
ได้กลับมามีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง
ทำงานอย่างอื่นบ้างสักที
งานนี้เล่นเอาเพื่อนร่วมงาน
รวมทั้งตัวผมเองไข้ขึ้นไปเลย
แต่ก็ด้วยความเต็มใจครับ
ถ้าเป็นละคร คงตัองนับว่า...
เป็นฉากจบที่สวยงามและประทับใจมากทีเดียว
หลังจากค่ายนี้แล้วถ้าหากได้ทำค่ายอีก
ก็คงไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานของที่ทำงานอีกแล้ว
นับได้ว่าเป็นงานสุดท้ายของหน้าที่การงานปัจจุบันครับ
หลังจากนี้คงได้มาทำบล็อกและเว็บไซต์ได้เต็มตัว
ตั้งใจไว้ว่าจะทำเว็บเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์
ที่ดีๆสักเว็บหนึ่งครับ ก็คาดว่าน่าจะทำได้ระดับหนึ่ง





มีน้องๆในค่ายวิทย์ฯที่ผ่านมาอยากได้โปรแกรมดูดาว
แต่กลับมาดูที่บล็อกตัวเองแล้ว
มันถูกเก็บเป็นบทความเก่าไปเรียบร้อย
และดูเหมือนว่าลิงค์เดิมจะเสียเอาเสียด้วย
ก็ขอเอามาลงให้ดาวน์โหลดใหม่กันตรงนี้เลยแล้วกันครับ


อีกโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจเป็นโปรแกรมระบบสุริยะเสมือนจริง
Solar System Simulator
เป็นการ่จำลองเรื่องราวของระบบสุริยะ
และปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้อง
ก็ลองๆเอาไปใช้กันดูนะครับ

วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วันตะวันอ้อมข้าว


ในคืนวันนี้ 21 ธันวาคม จะเป็นกลางคืนคืนที่ยาวนานที่สุดในรอบปี
เป็นวันที่ดวงทิศขึ้นอ้อมฟ้าไปทางใต้มากที่สุด
คนโบราณเชื่อว่าตะวันยอมอ้อมฟ้า
เพื่อหลบไม่ข้ามทุ่งข้าวที่ตั้งท้องออกรวง
เป็นการให้ความเคารพกับต้นข้าว
ที่ยอมออกรวงเพื่อเป็นอาหารให้กับมนุษย์

เป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่บนขอบฟ้าต่ำสุด
โดยขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด
และตกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มากที่สุด

ภาษาอังกฤษ เรียก Winter Solstice

Solstice ใช้คำไทยว่า อายัน โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ทำให้มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "อายัน" อายันเกิดขึ้นทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ถ้าเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 20 หรือ 21 มิถุนายนเรียกว่า ครีษมายัน (summer solstice) และในวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมเรียกว่า เหมายัน (winter solstice) หรือที่เราเรียกกันว่า ตะวันอ้อมข้าว

(เหมายัน (เห-มา-ยัน) หรือ ทักษิณายัน (อังกฤษ: winter solstice) เป็นการที่ดวงอาทิตย์ โคจรไปถึงจุดหยุด (solstice) คือ จุดสุดทางใต้ในราววันที่ 22 ธันวาคม เป็นจุดในฤดูหนาว มีกลางคืนนานกว่ากลางวัน, ตรงข้ามกับ ครีษมายัน (summer solstice))

นอกจากนี้โลกยังมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันตลอดปี ช่วงที่ใกล้ที่สุดเกิดขึ้นในต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) ส่วนช่วงที่ไกลที่สุดเกิดขึ้นในต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร)

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หมู่นี้ดูท่าทางจะไม่ค่อยมีเวลามาเขียนบทความใหม่ๆให้บล็อกเลย เดือนหน้าหนาวก็อย่างนี้ละครับ คนก็มาเข้าค่ายที่ที่ทำงานเยอะหน่อย แต่พอปีใหม่ก็คงจะว่างยาวแล้วครับ ทำงานมา 5 ปีแล้วนะเนี่ย อยู่กะเด็กๆ ทำค่าย สอนดาราศาสตร์ ไม่ได้เก่งครับมีคนรู้มากกว่าผมเยอะแยะ แต่ก็คิดว่าความตั้งใจที่จะสอนให้ทุกคนเข้าใจเรื่องดาราศาสตร์ คงจะสื่อสารความหมายของดาราศาสตร์ที่น่าสนใจให้กับเด็กๆที่เรียนกับพวกเราได้ครับ


รูปค่ายนิดๆหน่อยๆครับ

ฝนดาวตกที่ผ่านไปอาจจะผิดหวังกันพอสมควรครับ เหมือนบุญมีแต่กรรมบังครับ วันที่ช่วงฝนดาวตกตกมากที่สุด (คืนวันที่ 12 ธ้นวา)ก็ดันกลายเป็นวันพระจันทร์ใกล้โลกซะอีกแนะ
แต่ก็นะ ยังไงๆมันก็เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาตินี่นะครับ บางทีการรอคอยแล้วผิดหวัง หากเราไม่ไปมุ่งหวังแค่เพียงว่าจะต้องได้เห็นต้องได้ดู การได้แหงนหน้ามองฟ้าบ้างมันก็ทำให้เราสบายใจขึ้นไม่น้อย ทำให้เรารู้สึกว่ามนุษย์นี้หนอช่างเล็กกระจิ๊ดริดเหลือเกินถ้าเที่ยบกับความกว้างของท้องฟ้าครับ
ปีใหม่ถ้าใครไปเที่ยวก็พอมีฝนดาวตกให้ดูนะครับ แต่คงจะตกน้อยเพราะแสงจันทร์กวนอีกตามเคย แต่หากไหนๆไปเที่ยวแล้ว ก็ออกไปมองฟ้า มองดาวบ้างสักหน่อยก็ดีไม่ใช่น้อยใช่ไหมครับ ใครที่หนีจากเมืองได้ ก็อย่าลืมดูดาวบ้างนะครับ คงได้เห็นอะไรบนฟ้าที่ไม่ใช่แสงไฟ ไม่ใช่ควันพิษ แต่เป็นผืนฟ้าประดับดาวที่สวยงาม ถ้าโชคดียังอาจได้เห็นดาวตกด้วยนะครับ เป็นฝนดาวตกชื่อควอแดรนติดส์(Quadrantids)เป็นชื่อฝนดาวตกตามชื่อกลุ่มดาวที่เป็นศูนย์กลางการตกที่เป็นกลุ่มดาวโบราณที่ยกเลิกไปแล้วครับ ก็ไปเที่ยวไหนก็มองฟ้าบ้างนะครับช่วงวันที่ 1-5 ธันวา ถ้าโชคดีก็นาจะได้เห็นบ้างครับ

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ดาราศาสตร์ยากนักเหรอ "ใช้นิทาน-ตำนานของดวงดาวช่วยสิ!!"

การจะสอนดาราศาสตร์ให้ดูน่าสนใจนั้น ถ้าหากเราเอาแต่เรื่องวิชาการมาสอน เอาสูตรสารพัดสูตรมาสอนนั้น เชื่อได้ว่าตามนิสัยของคนไทยที่ไม่ค่อยจะชอบอะไรที่ดูเคร่งเครียดนัก ก็ดูจะเป็นอะไรที่ยากมากๆที่จะทำให้มีคนมาสนใจดาราศาสตร์
และเมื่อเราคิดว่ายากและไม่สนุกไปก่อน ไม่ว่าเราจะพยายามอย่างไร เราเองและผู้ที่เราทำการสอนก็ยิ่งยากที่จะเข้าใจ
ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่าการเรียนดาราศาสตร์นั้น ไม่ได้สำคัญแค่การรู้จักดาว รู้สภาพของดาว หรือดาวดวงไหนชื่ออะไรประกอบด้วยอะไรเท่านั้น
แต่การเรียนดาราศาสตร์นั้นเป็นเหมือนประตูที่เปิดสู่โลกของจินตนาการที่กว้างใหญ่มหาศาล

จากประสบการณ์ที่ได้พบได้เห็นเด็กๆที่สนใจดาราศาสตร์หลายๆคนนั้น มักจะเป็นคนที่มีจินตนาการสูงและมีความคิดสร้างสรรค์
นั่นอาจเป็นเพราะวิชาดาราศาสตร์เป็นวิชาที่เปิดกว้าง และสร้างจินตนาการให้คนที่สนใจได้มากมาย
ความรู้ที่เรามีในปัจจุบันเกี่ยวกับดาราศาสตร์ นับว่าน้อยนิดเมื่อเที่ยบกับจักรวาลอันกว้างใหญ่
จนเราสามารถที่จะพูดอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับอวกาศ เช่น ในอวกาศมีโลกอีกโลกที่ใช้ภาษาไทยทั้งโลกเลย
เราจะไม่สามารถตอบได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันผิดหรือถูกในเรื่องของอวกาศ
เพราะอวกาศกว้างใหญ่มาก ตราบใดที่เรายังไม่สามารถไปตรวจสอบให้ทั่วจักรวาล(ซึ่งแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยในปัจจุบัน) เราก็ไม่สามารถไปบอกว่าสิ่งที่เราพูดผิดได้
พูดมาเสียยืดยาวก็เพื่อจะบอกว่าการเรียนดาราศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้เรียนรู้ไว้
แต่หลายคนก็ไม่รู้จะเริ่มต้นเรียนรู้หรือเริ่มต้นสอนอย่างไร
วันนี้ก็ขอแนะนำวิธีการที่ใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ก็คือการใช้ นิทาน หรือตำนานของชื่อของดวงดาวในการสร้างความสนใจดาราศาสตร์
หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ชื่อของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์บนท้องฟ้า หรือกลุ่มดาวต่างๆนั้นมีเรื่องราว นิทาน ตำนาน หลายชาติหลายภาษา หรือแม้แต่การ์ตูนญี่ปุ่นที่เด็กๆสนใจที่สามารถจะหยิบยกมาประกอบการสอน ให้เราสนุกกับการทำความรู้จักและจดจำเรื่องดวงดาวต่างบนท้องฟ้าได้อย่างดี
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของดาวลูกไก่ซึ่งเราก็รู้จักกันเป็นอย่างดีมาเชื่อมโยงกับการอธิบายเรื่องดาวลูกไก่ เป็นการเติมความรู้ใหม่ให้กับความรู้เดิมที่เรามีอยู่แล้ว ซื่งจะทำให้สามารถจดจำได้ง่ายกว่าการสอนหรือเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด


ภาพจากการ์ตูนญี่ปุ่นเซนต์เซย่าที่มีเรื่องของกลุ่มดาวจักราศีและกลุ่มดาวอื่นๆเป็นองค์ประกอบของเรื่อง

การ์ตูนญี่ปุ่น เช่น เรื่อง เซนต์เซย่า (ปัจจุบันยังมีขายทั้งหนังสือการ์ตูนและวีดีโอซีดี) มีการกล่าวถืงตัวการ์ตูนที่ใส่ชุดเกราะ(ชุดครอส)ที่เป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มดาวต่างๆบนท้องฟ้า ซึ่งเรียกได้ว่าแทบจะมีเกือบทุกกลุ่มดาวบนท้องฟ้าเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้แล้วเรายังอาจดูกลุ่มดาวบนท้องฟ้าแล้วลองแต่งเรื่องราวของเราเอง หรือให้คนที่เราทำการสอนลองเขียนเรื่องราวที่เขาคิดจากดาวที่เขารู้จัก หรือให้เด็กๆวาดรูปเป็นเรื่องราวของดวงดาว กลุ่มดาวที่เราได้สอนไปก็ยังได้
สิ่งเหล่านี้จะทำให้การสอนดาราศาสตร์ไม่น่าเบื่อและดูไกลตัวอีกต่อไป
และยังทำให้เราเองและผู้ที่เรียนสนุกไปพร้อมกับการได้รับความรู้ไปโดยไม่รู้ตัว และจะจำได้โดยไม่ลืมง่ายๆ
สำหรับท่านที่ไม่รู้จะไปเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ที่ไหน ผมเองก็อาสาจะตามหามาให้ท่านที่สนใจในตอนต่อๆไปนะครับ


โครงการอพอลโลที่ทำการส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ตั้งชื่อตามเทพอพอลโลที่เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ของโรมัน

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ใครได้เห็นดาวตกบ้างเอ่ย

จะมีคนเห็นดาวตกบ้างไหมเนี่ย เมือวานผมเองที่เที่ยวชวนชาวบ้านชาวช่องเขาดู กลับไม่ได้อยู่ดูซะเอง พอดีไปธุระมาน่ะครับ

ยังไงๆก็ยังพอมีโชคอยู่บ้างครับที่ยังอุตสาห์ได้เห็นกะเขาด้วย แถมได้เห็นแบบที่เรียกว่าเป็นลูกไฟ Fire Ball เห็นเป็นสีเขียวสวยมากทีเดียว สีของดาวตกจะบอกถึงชนิดของดาวตกได้นะครับ ที่ผมได้เห็นน่าจะเป็นดาวตกที่เป็นโลหะครับ พวกโลหะเวลาเผาใหม้จะเห็นเป็นสีเขียว ครับ
แต่ปีนี้รู้สึกเหมือนจะได้เห็นน้อยสักหน่อย
เหตุผลน่าจะมาจากการที่ปีนี้เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงที่พระจันทร์สว่างมากด้วยครับ
ทำให้เรามองไม่เห็นดาวตกดวงเล็กๆเพราะแสงของมันสู้ดวงจันทร์ไม่ได้
ยังไงๆยังพอมีโอกาสได้เห็นอีกสองวันนะครับ
คือคือคืนวันนี้กับคืนวันพรุ่งนี้ (14-15 ธันวาคม)
แต่ก็อาจจะตกจำนวนน้อยลงอีก
แต่ถ้าใครไม่มีธุระอะไร
ก็ลองสละเวลามารอดูสักหน่อยนะครับ
ถ้ามองไม่เห็นดาวตก
อย่างน้อยการได้ออกมามองฟ้ามองดาว
ที่กว้างใหญ่และอยุ่ห่างไกลเราจนเหลือประมาณ
อาจทำให้เราได้รู้สึกว่ามนุษย์เรานี้
ช่างตัวเล็กกระจ้อยร่อยเสียนี่กระไร
เมื่อเทียบกับความกว้างของท้องฟ้าและจักรวาล
และปัญหาที่เราคิดว่าหนักหนาใหญ่โตที่เรามี
มันยิ่งเป็นสิ่งที่เล็กยิ่งกว่าตัวเราเข้าไปอีก
ก็คงจะช่วยให้เรามีกำลังใจต่อสู้ฝ่าฟันมันต่อไปนะครับ
ยังไงก็ขอให้มีเวลาดูความสวยงามของชีวิตของโลกบ้างนะครับ โลกนี้ยังมีอะไรที่สร้างสรรค์และสวยงามอย่างเหลือเชื่อ ที่เราอาจละเลยหลงลืมที่จะมองดูมันอยู่อีกมากมายครับ
ชีวิตน่ะสวยงาม Life is Beautifulนะครับอย่าลืมไปซะล่ะ

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ค่ำคืนที่ฝนดาวโปรยปราย (Meteo Shower)

และแล้วก็ถึงคืนวันที่จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ซึ่งจะตกในอัตราสูงที่สุดในคืนวันนี้ วันที่ 13 ธันวาคม (ดูข้อมูลเรื่องฝนดาวตกได้จากบทความที่เขียนไว้วันที่ 11 ธันวาครับ) เริ่มเห็นได้ตั้งแต่ 3 ทุ่ม หรือ 21.00 น. เป็นต้นไปครับ ยิ่งดึกก็จะยิ่งเห็นมากขึ้นนะครับ แต่ว่าจะได้เห็นได้มากน้อยแค่ไหนก็คงต้องดูสภาพของท้องฟ้าแต่ละที่ที่ดูหละครับ ใครอยู่นอกเมืองหน่อยก็คงจะเห็นได้ชัดเจนกว่าในเมืองแน่ๆเพราะแสงไฟที่จะรบกวนมีน้อยกว่า

แต่สำหรับปีนี้ นอกจากแสงไฟที่เกิดจากมนุษย์เราแล้วยังมีอุปสรรค์ทางธรรมชาติเองอีกอย่างที่อาจทำให้เราเห็นฝนดาวตกได้น้อยลงสักหน่อย ก็คือ แสงของดวงจันทร์ (ที่สว่างมากๆๆ) แต่ก็คาดว่าก็ควรจะได้เห็นกันปริมาณพอสมควรครับ

ยังไงๆ ก็เตรียมขอพรกับดาวตกไว้นะครับ น่าจะขอได้หลายข้อ ใครจะเชื่อเรื่องนี้หรือไม่แล้วก็แต่ครับ แต่ผมเชื่อว่าเวลาเราตั้งใจคิดถึงอะไรมากๆเราก็น่าจะได้สิ่งนั้น อาจไม่ใช่เพราะดาวตก แต่เพราะใจเราอยากให้เป็นอย่างที่เราขอมากกว่าครับ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ

ก็ขอให้มีความสุขกับค่ำคืนแห่งแสงจันทร์ และฝนดาวตกที่สวยงามครับ

เอาไว้มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อะไรที่น่าสนใจอีก ผมก็จะพยายามหยิบยกมา แลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้กับเพื่อนๆครับ

พรที่ผมจะขอจากดาวตกก็คงขอให้บ้านเรากลับไปสงบเหมือนเดิมสักทีเถอะคร๊าบบบ

และขอให้ทุกคนมีความสุขและโชคดีนะครับ

คืนวันพระจันทร์ใกล้ตา



วันนี้ (12 ธันวาคม)เป็นวันที่ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่เข้าสู่ช่วงที่น่าจะมีอัตราการตกตกสูงวันหนึ่งครับ แต่จะน้อยกว่าในวันที่ 13 ธันวาคม และให้บังเอิญว่าวันนี้มีก็มีอีกปรากฏการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันด้วย ก็คือการที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีนี้ด้วยครับ

ทำให้คืนนี้เราได้เห็นดวงจันทร์ดูใหญ่โตสวยงามกว่าทุกๆวัน(โดยเฉพาะช่วงเที่ยงคืน) ดวงจันทร์วันนี้ใกล้ขนาดไหนเหรอครับวันนี้ ก็ขอนำข้อมูลมาฝากว่า...

ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด 354,496 กม.วันนี้ก็ตรงกับคืนวันเพ็ญพอดี และดวงจันทร์ในวันนี้จะอยู่ในกลุ่มดาววัว ดวงจันทร์ของวันนี้ขึ้นเวลา 17.27น. และตกเวลา 06.57 ของวันรุ่งขึ้นครับ

ถ้าวันนี้ยังเห็นฝนดาวตกน้อยอยู่ก็ชมจันทร์ไปก่อนพลางๆนะครับ สวยงามไม่แพ้กันทีเดียว ^^

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ฝนดาวตกคนคู่ (Geminids)

คืนวันที่ 12-13 ธันวาคมนี้ ผมมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจมากเหตการณ์หนึ่งมาแนะนำให้ทุกท่านได้มีโอกาสชมกันนะครับ

นั่นก็คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่าฝนดาวตกนั่นเอง

แต่ปรากฏการณ์ฝนดาวตกมันเป็นอย่างไรกัน

ก็ขออนุญาตอธิบายได้ตามความรู้ที่ผมมีดังนี้ครับ
ปรากฏการฝนดาวตก คือ ปรากฏการที่มีการตกของอุกกาบาตหรือที่เราเรียกกันว่า ดาวตก หรือผีพุ่งไต้ ตกจากท้องฟ้ามองเห็นเป็นเส้นแสงสวยงามปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก คล้ายกับฝนของดวงดาวที่กำลังตกจากท้องฟ้าครับ


แล้วมันเกิดจากอะไรกันล่ะ??
ปรากฏการฝนดาวตกเกิดขึ้นได้จากการที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยได้มีวงโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ โดยโคจรตัดผ่านวงโคจรของโลกและได้ทิ้งเศษฝุ่น และวัตถุขนาดตามเส้นทางโคจรที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยนั้นผ่านมาครับ
เมื่อโลกได้โคจรผ่านบริเวณที่ดาวหางดังกล่าวได้ผ่านมา แรงดึงดูดของโลกก็จะดึงดูดเศษฝุ่น เศษฝุ่นผงจำนวนมากที่ดาวหางได้ทิ้งไว้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศทำให้เกิดความร้อนและเผาเศษวัตถุนั้นจนไหม้หายวับไปภายในเวลาแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ทำให้เรามองเห็นเป็นเส้นสว่างสวยงามเป็นจำนวนมาก คล้ายกับสายฝนเราจึงเรียก ปรากฏการนี้ว่า ฝนดาวตก (Meteors Shower) ยังไงล่ะครับ

แล้วฝนดาวตกที่กำลังจะเกิดขึ้นนี่ล่ะเป็นอย่างไร??

ฝนดาวตกที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีชื่อว่าฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteors shower) หรือฝนดาวตกคนคู่ จะเกิดขึ้นช่วงประมาณ วันที่ 7-15 ธันวาคม ของทุกปี และจะตกมากที่สุดในคืนวันที่ 12-14 โดยจมีอัตราการตก 50-100 ดวงต่อชั่วโมง จุดศูนย์กลางการตก (Radiant) ใกล้กับดาวคัสเตอร์ (Castor) ในกลุ่มดาวคนคู่ (GEMINI)(หาตำแหน่งดาวคนคู่ได้จากโปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium คลิกเพื่อดาว์นโหลดโปรแกรมฟรีครับ)

ภาพจากhttp://www.windows.ucar.edu/asteroids/images/asteroid_3200_phaethon_orbit_sm.gif
เข้าใจว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากแกนกลางของดาวหาง ที่สลายตัวหมดแล้ว กลายเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า แฟทอน(3200Phaethon) ในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจในฝนดาวตกเจมินิดส์คือจะมีโอกาสให้เราเห็นดาวตกสว่างมากๆ ที่เรียกว่า ลูกไฟ หรือ Fire ball การสังเกตฝนดาวตกนี้ กลุ่มดาวคนคู่จะขึ้นจากขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือเล็กน้อย และในปีนี้จะเริ่มเห็นฝนดาวตกได้ตั้งแต่เวลา 21.00 น.เป็นต้นไป แม้ปีนี้จะมีอุปสรรค์จากการที่เวลาที่เริ่มมีการตกจะมีแสงจันทร์รบกวนค่อนข้างมาก เป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดด้วย และเป็นฝนดาวตกที่มีขนาดของลูกไฟไม่ใหญ่มากเท่ากับฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หรือลีโอนิดส์ แต่ก็มีอัตราการตกต่อชั่วโมงค่อนข้างสูง ถ้าอยู่ในสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิทและไม่มีแสงรบกวนมากเกินไป ก็น่าจะมองเห็นฝนดาวตกกลุ่มนี้ได้ชัดเจนพอสมควร ก็ถือได้ว่าฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่เป็นฝนดาวตกที่น่าสนใจมากอีกกลุ่มหนึ่งเลยครับ


การสังเกตหรือการชมฝนดาวตกนั้นจริงๆแล้วก็สามารถชมได้หลายครั้งต่อปี ตามที่โลกโคจรผ่านแนวการโคจรของดาวหางซึ่งมีอยู่หลายจุด แต่ในแต่ละปีจะมีจำนวนหรือความถี่ของการตกมากน้อยไม่เท่ากัน รวมทั้งช่วงเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ว่าอยู่ในช่วงเวลาไหน เช่นถ้าเกิดฤดูฝนก็จะมองเห็นได้ยากยิ่งขี้น

ปรากฏการฝนดาวตกนั้นจะสามารถสังเกตจากท้องฟ้าได้แทบทุกที่ในประเทศ แต่สำหรับในเมืองใหญ่นั้นก็จะมีโอกาสมองเห็นได้น้อยเนื่องจากมีมลภาวะและฝุ่นผงในอากาศมาก ทั้งยังมีแสงไฟรบกวนอีกด้วย ถ้ามีโอกาสหรือสามรถเดินทางไปเฝ้าชมหรือสังเกตการณ์ในสถานที่ที่ห่างไกลจากเมือง ก็จะทำให้เราสามารถชมปรากฏการฝนดาวตกได้ชัดเจนและสวยงามมากกว่าในเมืองหลายเท่าครับ
ส่วนวิธีการสังเกตฝนดาวตกนั้นก็ คือ ยืนหรือนั่ง(แต่จะให้ที่ดีที่สุดคือควรนอนราบไปเลยครับ) โดยหันหน้าไปทางกลุ่มดาวที่เป็นจุดกำเนิด ในฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ให้มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยในช่วงหัวค่ำ และมองไปบริเวณกลางท้องฟ้าในตอนดึก (กลุ่มดาวที่เป็นศูนย์กลางฝนดาวตกจะขึ้นสูงจากขอบฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆครับ) มองท้องฟ้ารอบกลุ่มดาวกว้างๆ เท่านี้ท่านก็จะได้ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้อย่างมีความสุขแล้วครับ

การเตรียมการชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก
1. เตรียมอุปกรณ์ในการสังเกต ได้แก่
- ไฟฉาย - แผนที่ดาว - เข็มทิศ (ถ้ามี)
- กล้องดูดาว หรือกล้องส่องทางไกล (ถ้ามี)
2. แต่งกายให้รัดกุมและเหมาะสมกับสภาวะ
อากาศ ควรสวมหมวกป้องกันน้ำค้าง
3. เตรียมเสื่อ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาหารและน้ำดื่มตามความเหมาะสม
4. ไม่ควรไปโดยลำพัง ควรไปดูเป็นหมู่คณะ เด็กควรมีผู้ปกครองดูแล
5. รักษาความสะอาด และรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในบริเวณที่ใช้ชมปรากฏการ


**แหล่งข้อมูล**
โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium จาก http://www.stellarium.org
สมาคมดาราศาสตร์ไทย
http://thaiastro.nectec.or.th
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ http://www.lesaproject.com/

วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ตอนกลางวันก็มีดาวนะจะบอกให้

เมื่อเรามองดูท้องฟ้าในเวลาค่ำคืนเราจะมองเห็นดวงดาวมากมายบนท้องฟ้า


เมื่อตอนกลางวันมาถึงเราก็จะมองไม่เห็นดวงดาว


แต่จริงๆแล้วดวงดาวบนท้องฟ้านั้นมีทั้งตอนกลางวันและกลางคืน


เชื่อผมไหมล่ะ


แต่ทำไมตอนกลางวันมองไม่เห็นล่ะ

เพราะตอนกลางวันมันมีแสงอาทิตย์ที่สว่างจ้าจนบังแสงดาวหมดรึเปล่า


เกือบๆถูกครับ แต่ก็ไม่ทั้งหมด



เพราะบนดวงจันทร์เราสามารถเห็นดาวได้ทั้งกลางวันและกลางคืน


ทำไมเป็นเช่นนั้นล่ะ???


ลองคิดดูว่าโลกของเรากับดวงจันทร์ต่างกันตรงไหนบ้าง


โลกเราใหญ่กว่าเหรอ ไม่น่าจะใช่


อะไรล่ะที่โลกมีแต่ดวงจันทร์ไม่มี?


คนเหรอ น้ำเหรอ ก็ยังไม่ใช่

สิ่งที่สิ่งที่โลกมีแต่ดวงจันทร์ไม่มีและทำให้เรามองไม่เห็นดวงจันทร์ก็คือ....

ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเอง

อากาศที่เราหายใจ ท้องฟ้าของเรา นั่นคือส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศ


แล้วชั้นบรรยากาศทำให้เราไม่เห็นดวงดาวได้ยังไงล่ะ


มันมีที่มาอย่างนี้ครับ


แสงของดวงอาทิตย์ที่เข้ามายังโลกจะเป็นแสงสีขาว


แต่ในแสงสีขาวของดวงอาทิตย์นั้นมันจะประกอบด้วยสีหลายสีด้วยกัน


ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สเปคตรัมของแสง


เราเคยเห็นกันรึเปล่าไอ้ สเปคต้ง สเปตตรัม อะไรเนี่ย

ขอบอกว่า เราต้องเคยเห็นกันบ้างสักครั้งสองครั้งหละ


เวลาที่เราเห็นรุ้งกินน้ำยังไงล่ะครับ

สีของรุ้งที่เห็นเกิดจากการที่แสงอาทิตย์หรือแสงแดดของเรา


ตกกระทบกับหยดน้ำในมุมที่ต่างกันทำให้คลื่นแสงแต่ละสีมีการแยกตัวออกมาให้เราเห็นเป็นสีต่างๆของรุ้งยังไงล่ะครับ


แล้วรุ้งมันเกี่ยวอะไรกะที่เรามองไม่เห็นดาวตอนกลางวันล่ะ


ก็เพราะในสีรุ้งหรือสเปคตรัมของแสงที่มี 7 สี


ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลืองแสด แดง นั้น


พวกนี้มันมีลักษณะของแสงเป็นคลื่นด้วย


เหมือนคลื่นในทะเล เหมือนคลื่นวิทยุ


มีความยาวคลื่นไม่เท่ากัน

สีทางสีฟ้าจะมีความยาวคลื่นสั้นกว่าสีทางสีแดง


แล้วมันมีผลยังไงล่ะ ถึงทำให้เราไม่เห็นดาวตอนกลางวันได้น่ะ

ก็เพราะตอนกลางวัน ดวงอาทิตย์จะทำมุมกับโลกตรงจุดที่เราอยู่ เช่น ประเทศไทย


ในแนวที่เป็นมุมเกือบตั้งฉากกับเรา


เช่น ในตอนกลาววันที่เราเห็นพระอาทิตย์ตรงกับหัวเรา ก็คือตั้งฉากกับพื้นนั้นเอง


แสงของดวงอาทิตย์ที่เห็นเป็นสีขาว


ที่ประกอบด้วยเจ็ดสีที่ผ่านเข้าในโลกนั้น


มันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องผ่านชั้นบรรยากาศด้วย

เวลาที่แสงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศนั้น


แสงทางด้านสีฟ้าจะชนกับโมเลกุลของอากาศ


และเกิดสิ่งที่เรียกว่าการกระเจิงแสง
กระจายแสงสีฟ้าออกมาให้เรามองเห็นเป็นฟ้าสว่างจนบดบังแสงของดวงดาวไปจนหมด


บางคนยังสงสัยว่าการกระเจิงแสงคืออะไรล่ะ


อธิบายอาจจะไม่เข้าใจหนักกว่าเก่า


ก็ของให้ทดลองหรือนึกถึงสิ่งต่อไปนี้

1. เวลาเราฉายไฟไปในหมอกจะทำให้เราเห็นไฟสว่างเป็นลำแสงยาวๆ



2.เวลาเราฉายไฟไปในน้ำขุ่นๆ หรือน้ำนม จะเห็นเป็นลำแสงในแก้วน้ำ หรือน้ำนมนั้น





นั่นแหละที่เรียกว่าการกระเจิงแสง

ด้วยเหตุนี้นี่เองเราจึงเห็นฟ้าเป็นสีฟ้าในตอนกลาววัน และมองไม่เห็นดวงดาว


เมื่อถึงตอนกลางคืนไม่มีแสงอาทิตย์ให้เกิดการกระเจิงแสงสีฟ้า


ฟ้าจึงไม่มีอะไรบดบังแสงของดวงดาวได้


เราจึงยังคงมองเห็นดวงดาวได้ในเวลากลางคืนไงครับ

วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การทำเข็มทิศอย่างง่าย

พูดถึงเรื่องดาราศาสตร์ไปสองตอนแล้ว ก็กลับมานึกได้ว่าเรื่องทิศก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันครับ หากไม่รู้ทิศเสียเลยการหาตำแหน่งของดวงดาวก็ยิ่งจะยากขึ้น ก็เป็นโชคดีที่เมื่อวันที่ 8 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ผมทำงานอยู่ได้จัดอบรมเรี่องปรมาณูเพื่อสันติ ได้เชิญวิทยากรที่เก่งระดับประเทศ และสอนได้อย่างสนุกสนานจนท่านที่เข้าอบรมหัวเราะกันตลอดการอบรมเลยทีเดียวเชียว
ท่านวิทยากรของเราท่านนี้ท่านมีชื่อว่า ดร.จันทร์ชัย หญิงประยูร ครับ ท่านมีกิจกรรมที่ทำง่ายๆและสนุกหลายๆอย่างที่ถ้าใครเคยดูในวิชาการดอทคอมก็อาจจะเคยผ่านๆตามาบ้างแล้ว

วันนี้ก็จะขอนำมาถ่ายทอดต่อสักเรื่อง เพื่อให้ได้อุปกรณ์ในการไปหาทิศทางเพื่อจะเริ่มต้นดูดาวกันได้ครับ เป็นเรื่องของการทำเข็มทิศอย่างง่ายครับ วิธีการนั้นไม่ได้ยากเลยครับ มีแค่สองขั้นตอนง่ายๆคือ


1. นำเข็มเย็บผ้ามาถูกับแม่เหล็กถาวร(ก็คือแม่เหล็กทั่วๆไปนั่นแหละครับส่วนใหญ่จะเป็นแม่เหล็กถาวรอยู่แล้ว) แนะนำว่าควรถูไปทางเดียวนะครับ เมื่อถูแล้วจะทำให้เข็มกลายเป็นแม่เหล็กไปด้วยครับ


2. นำเข็มที่ถูกับแม่เหล็กแล้วไปเสียบไว้บนกระดาษ หรือแผ่นโฟมเล็กๆ แล้วนำไปลอยในจานใส่น้ำ เข็มก็จะหันไปทางด้านทิศเหนือ-ใต้ ตลอด ไม่ว่าเราจะหันจานไปทางไหนเข็มก็จะยังคงหันไปในทิศทางเดิมเสมอ

แค่นี้ก็ได้เข็มทิศแบบง่ายๆไว้ใช้แล้วครับ ลองทำดูนะครับ หรือถ้าหากใครมีแม่เหล็กแบบแท่งจะใช้วิธีการวางแท่งแม่เหล็กบนโฟมแล้วนำไปลอยในน้ำก็ได้เช่นกัน หรือจะนำไปแขวนด้วยเส้นด้ายก็ได้ครับ แม่เหล็กก็จะหันขั้วของมันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ตลอดเช่นเดียวกันครับ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแม่เหล็กจะถูกสนามแม่เหล็กของโลก(โลกก็เป็นแม่เหล็กอันใหญ่มากอันหนึ่งครับ) ส่งแรงแม่เหล็กมาดูดแม่เหล็กทุกก้อนบนโลกให้หันไปหาขั้วแม่เหล็กของโลกที่อยู่บริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้รับ เพราะฉะนั้นเข็มทิศและแม่เหล็กทุกก้อนเมื่อวางให้หมุนได้อย่างอิสระมันจึงหันขั้วของมันชี้ไปทางทิศเหนือและทิศใต้ตลอดเลยไงครับ ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปหาแม่เหล็กทดลองกันดูเพิ่มเติมได้นะครับ

แหล่งข้อมูล
1. ดร.จันทร์ชัย หญิงประยูร
2.สถาบัน ICASE (Internaitonal Council of Associations for Science Education)
3.ภาพการทำเข็มทิศและข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์วิชาการดอทคอม
www.vcharkarn.com
4.ภาพเข็มทิศจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีครับ
ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โปรแกรมระบบสุริยะจำลอง Solar System Simulator



หลังจากเราได้ระบบท้องฟ้าจำลองไปเป็นสื่อในการสอนเกี่ยวกับท้องฟ้าแล้ว ครั้งนี้ก็จะมาเจาะลึกไปในเรื่องของระบบสุริยะ ก็มีสื่อมาให้ท่านได้นำไปใช้กันอีกเช่นเคย เป็นโปรแกรมที่มีชื่อว่า Solar System Simulator Education ตามชื่อก็บอกแล้วครับว่า การศึกษาระบบสุริยะจำลอง เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการสอนเรื่องเกี่ยวกับระบบสุริยะและเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับระบบสุริยะ เช่น การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ การเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ การเกิดกลางวัน การเกิดฤดู หรือแม้แต่การอธิบายเรื่องฝนดาวตก ที่จะมีการใช้ภาพเคลื่อนไหวที่จะสามารถนำไปใช้เป็นสื่อประกอบการสอนได้เลยครับ การใช้นั้นก็ค่อนข้างง่าย สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้สำหรับอ่านในคู่มือได้เลยครับ เป็นคู่มือที่ทางศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเป็นภาษาไทยครับ ก็ต้องขอขอบคุณแทนผู้ที่สนใจทางดาราศาสตร์ทุกคนในที่นี้ด้วยนะครับ คุณครูที่สอนดาราศาสตร์และผู้ที่สนใจก็สามารถดาวน์โหลดไปอ่านศึกษาการใช้งานได้เลยครับ หรือไปที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของทางศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ที่ http://www.lesaproject.com/

คู่มือการใช้งานโปรแกรมระบบสุริยะจำลอง Solar System Simulator Education(ภาษาไทย)



ส่วนตัวโปรแกรมนี้จริงๆแล้วเป็นของชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งทำขึ้นครับ รายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมก็เข้าไปอ่านได้ในเว็บอย่างเป็นทางการของโปรแกรมที่ http://www.sssim.com/

ก็นับเป็นโปรแกรมที่น่ามีไว้ใช้อีกตัวหนึ่งสำหรับคนที่ทำการสอนวิชาดาราศาสตร์ หรือผู้ที่สนใจทางดาราศาสตร์ ก็ลองศึกษาและลองฝึกหัดใช้กันดูนะครับ

โปรแกรมระบบสุริยะจำลอง Solar System Simulator Education
http://www.ziddu.com/download/2868990/SssimEdu.rar.html

วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium


วิชาดาราศาสตร์เป็นวิชาที่สร้างปัญหาให้กับครูผู้สอนวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิชาที่ดูไกลตัว และยากต่อการอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจได้โดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทรงกลมท้องฟ้า การเคลื่อนที่ของกลุ่มดาว ดวงดาวและกลุ่มดาวต่างๆบนท้องฟ้า การอธิบายโดยตัวผู้สอนเองอาจไม่สามารถสร้างภาพให้ผู้เรียนเข้าใจได้มากพอ การมีสื่อที่จะสามารถทำให้เห็นภาพของท้องฟ้าได้อย่างชัดเจน ย่อมสามารถช่วยเป็นสื่อให้คุณครูทุกท่านได้นำไปใช้แสดงให้ผู้เรียนได้เห็นภาพของเรื่องราวทางดาราศาสตร์ และเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

โปรแกรมท้องฟ้าจำลองเป็นโปรแกรมที่ใช้เป็นสื่อการสอนทางดาราศาสตร์ชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการสอนวิชาดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดียิ่งชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมหรือแม้แต่ในปัจจุบันก็อาจจะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าไรนักในการเรียนการสอนดาราศาสตร์ โปรแกรมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกัน เช่น โปรแกรม Starry Night เป็นโปรแกรมท้องฟ้าจำลองที่อาจจะมีใช้อยู่บ้างในสถานศึกษาบางแห่ง และหน่วยงานที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์ เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหามาใช้ในราคาที่ค่อนข้างแพง โดยเฉพาะถ้าเป็นโปรแกรมรุ่นใหม่ๆที่มีระบบการใช้งานหรือรายละเอียดการควบคุมที่ซับซ้อนจะมีราคาตั้งแต่หลักหลายพันบาทจนถึงหลายหมื่นบาทเลยทีเดียว
แต่สำหรับโปรแกรมที่จะนำมานำเสนอให้คุณครูและท่านผู้ปกครองได้รู้จักและแบ่งปันกันนำไปใช้กันนี้เป็นโปรแกรมท้องฟ้าจำลองที่แจกฟรีสำหรับนำไปใช้เพื่อการศึกษา มีชื่อเรียกว่า Stellarium มีลักษณะเป็นซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลองแบบ 3 มิติ แสดงภาพท้องฟ้าเหมือนจริง สามารถสภาพของท้องฟ้า ดวงดาว และยังเลือกแสดงเส้นกลุ่มดาว รูปภาพกลุ่มดาว ชื่อของดวงดาวต่างๆ ชื่อกลุ่มดาวที่เป็นกลุ่มดาวสากล รวมถึงจำลองการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า และยังเลือกเวลาและสถานที่ที่ใช้ในการสังเกตได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้สอนดูดาวประกอบท้องฟ้าจริง หรือใช้สอนประกอบการใช้แผนที่ดาว ถ้าท่านที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโปรแกรมนี้ ที่ http://www.stellarium.org

ปัญหาอย่างหนึ่งของโปรแกรมนี้และโปรแกรมท้องฟ้าจำลองอื่นๆก็คือ ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอังกฤษในเมนูต่างๆ ทำให้หลายท่าน รวมทั้งผมเองต้องปวดหัวกับการแปลภาษาอังกฤษเหล่านี้มาเป็นภาษาที่ผมเข้าใจได้อยูพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์ของมันก็คุ้มอยู่พอสมควรครับ และนอกจากนี้ยังมีผู้ใหญ่ใจดีได้ทำคู่มือการใช้งานที่เป็นภาษาไทยให้เราได้ทำความเข้าใจกันได้ง่ายๆแล้วด้วย ซึ่งต้องขอบคุณทาง โครงการ LESA ที่ย่อมาจาก Learning module on Earth Science and Astronomy ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างหอดูดาวเกิดแก้ว ของท่าน อ.ฐากูล เกิดแก้ว โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. มาสร้างสื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศให้คุณครู และผู้ที่สนใจได้นำไปใช้กันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์โลก และอวกาศของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นครับ ถ้าท่านใดสนใจก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.lesa.in.th ได้เลยครับ แต่ถ้าท่านไม่ได้รีบอะไรและไม่อยากจะค้นด้วยตนเอง ผมเองก็เสนอตัวจะนำสื่อต่างๆจากหลายๆที่มาแนะนำให้ท่านรู้จัก และใช้ความรู้เท่ามีอยู่เล็กน้อยของผมเองช่วยอธิบายวิธีใช้เพิ่มเติมในบางส่วนให้ทุกท่านได้นำไปใช้ได้อย่างมีความเข้าใจและสนุกกับการเรียนรู้มากยิ่งขึ้นครับ

สำหรับโปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium จะไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ http://www.stellarium.org เลยก็ได้ครับ หรือดาวน์โหลดจากลิงค์ข้างล่างนี้ได้เช่นกันครับ

http://www.ziddu.com/download/2855540/stellarium.rar.html

สำหรับคู่มือการใช้งานภาษาไทยนี้เป็นผลงานของ อ.วิเชียร เพียงโงก ร่วมกับ อ.ฐากูร เกิดแก้ว และเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการ LESA ก็ขอให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษานะครับ และเวลานำไปใช้ก็อย่าลืมอ้างอิงแหล่งที่มาและผู้จัดทำด้วยนะครับ

http://www.ziddu.com/download/2855583/how_to_use_stellarium-v0.9.0.doc.html

หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของทุกท่านที่จะนำไปศึกษาและทดลองใช้แล้วนะครับ จะให้ดีก็ควรจะศึกษาพื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์เพิ่มเติมด้วยนะครับจะได้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งผมเองก็จะพยายามหาขอมูลทางด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมานำเสนอให้ทุกท่านได้ร่วมกันศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยๆครับ หากมีคำถามหรือจะแนะนำหรือติชมใด้ๆก็แนะนำมาได้เลยครับ เพื่อที่เราจะได้ศึกษาไปพร้อมๆกัน ผมเชื่อว่าการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กันจะเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของเราได้ดีที่สุด โดยพูดคุยกันผ่านระบบความคิดเห็นหรืออีเมลและMSN ได้ที่ orca_hamoo18@hotmail.com ครับ ดาราศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่ยาก และเป็นวิชาที่น่าสนใจมากๆจริงๆครับ อยากให้ทุกท่านได้ลองศึกษากันดูครับ

***แหล่งข้อมูล***

เว็บไซต์โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium http://www.stellarium.org
เว็บไซต์โครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ http://www.lesa.in.th

"ยากจัง ไม่สนุกเลย" ปัญหาใหญ่การสอนวิทยาศาสตร์

คุณครูที่ทำหน้าที่สอนวิชาดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จะด้วยเพราะเป็นสาขาที่เรียนมา ซึ่งท่านได้เปรียบที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ส่วนบางท่านที่ไม่ได้ศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตรง ก็จะยิ่งจะมีความยากลำบากในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

แต่ถึงจะเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตรงแต่การสอนด้านดาราศาสตร์และการสอนวิทยาศาสตร์ให้สนุกก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะวิชาดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มักจะเป็นวิชาที่ผู้เรียนมีความคิดว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก่อนที่จะเริ่มเรียนเสียอีก การหาวิธีการและเทคนิคการสอนที่ดีและทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

จากประสบการณ์ของผมเองในการทำกิจกรรมการสอนด้านวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในการส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการสอนดาราศาสตร์ รวมถึงการค้นคว้าด้วยตนเอง จึงมีข้อมูลและวิธีการสอนทั้งทางด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ด้านอื่นๆที่จะทำให้ผู้เรียนได้รู้สึกสนุกกับการเรียนการสอนด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในด้านอื่นๆ จึงอยากจะนำสื่อและความรู้เหล่านี้มาแบ่งปันให้คุณครูที่ทำการสอนดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ท่านผู้ปกครองที่จะนำไปใช้กับบุตรหลานของท่านได้นำความรู้และสื่อต่างๆเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนโดยเฉพาะเด็กๆได้สนุกสนานกับการเรียนการสอนด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่อไปครับ

สื่อที่ผมเองจะนำมาแบ่งปันให้กับทุกท่านในBlogนี้ ก็เป็นสื่อที่มาจากความคิดของผมเองบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสื่อที่มีผู้คิดไว้และผมนำมารวบรวม เพื่อมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้เด็กๆของเราได้เรียนดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาให้สังคมของเราเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศชาติของเราให้มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างยั่งยืนครับ ก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของสื่อที่ผมนำมาแบ่งปันทุกๆท่านเป็นอย่างยิ่งครับ