วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ดาราศาสตร์ยากนักเหรอ "ใช้นิทาน-ตำนานของดวงดาวช่วยสิ!!"

การจะสอนดาราศาสตร์ให้ดูน่าสนใจนั้น ถ้าหากเราเอาแต่เรื่องวิชาการมาสอน เอาสูตรสารพัดสูตรมาสอนนั้น เชื่อได้ว่าตามนิสัยของคนไทยที่ไม่ค่อยจะชอบอะไรที่ดูเคร่งเครียดนัก ก็ดูจะเป็นอะไรที่ยากมากๆที่จะทำให้มีคนมาสนใจดาราศาสตร์
และเมื่อเราคิดว่ายากและไม่สนุกไปก่อน ไม่ว่าเราจะพยายามอย่างไร เราเองและผู้ที่เราทำการสอนก็ยิ่งยากที่จะเข้าใจ
ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่าการเรียนดาราศาสตร์นั้น ไม่ได้สำคัญแค่การรู้จักดาว รู้สภาพของดาว หรือดาวดวงไหนชื่ออะไรประกอบด้วยอะไรเท่านั้น
แต่การเรียนดาราศาสตร์นั้นเป็นเหมือนประตูที่เปิดสู่โลกของจินตนาการที่กว้างใหญ่มหาศาล

จากประสบการณ์ที่ได้พบได้เห็นเด็กๆที่สนใจดาราศาสตร์หลายๆคนนั้น มักจะเป็นคนที่มีจินตนาการสูงและมีความคิดสร้างสรรค์
นั่นอาจเป็นเพราะวิชาดาราศาสตร์เป็นวิชาที่เปิดกว้าง และสร้างจินตนาการให้คนที่สนใจได้มากมาย
ความรู้ที่เรามีในปัจจุบันเกี่ยวกับดาราศาสตร์ นับว่าน้อยนิดเมื่อเที่ยบกับจักรวาลอันกว้างใหญ่
จนเราสามารถที่จะพูดอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับอวกาศ เช่น ในอวกาศมีโลกอีกโลกที่ใช้ภาษาไทยทั้งโลกเลย
เราจะไม่สามารถตอบได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันผิดหรือถูกในเรื่องของอวกาศ
เพราะอวกาศกว้างใหญ่มาก ตราบใดที่เรายังไม่สามารถไปตรวจสอบให้ทั่วจักรวาล(ซึ่งแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยในปัจจุบัน) เราก็ไม่สามารถไปบอกว่าสิ่งที่เราพูดผิดได้
พูดมาเสียยืดยาวก็เพื่อจะบอกว่าการเรียนดาราศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้เรียนรู้ไว้
แต่หลายคนก็ไม่รู้จะเริ่มต้นเรียนรู้หรือเริ่มต้นสอนอย่างไร
วันนี้ก็ขอแนะนำวิธีการที่ใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ก็คือการใช้ นิทาน หรือตำนานของชื่อของดวงดาวในการสร้างความสนใจดาราศาสตร์
หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ชื่อของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์บนท้องฟ้า หรือกลุ่มดาวต่างๆนั้นมีเรื่องราว นิทาน ตำนาน หลายชาติหลายภาษา หรือแม้แต่การ์ตูนญี่ปุ่นที่เด็กๆสนใจที่สามารถจะหยิบยกมาประกอบการสอน ให้เราสนุกกับการทำความรู้จักและจดจำเรื่องดวงดาวต่างบนท้องฟ้าได้อย่างดี
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของดาวลูกไก่ซึ่งเราก็รู้จักกันเป็นอย่างดีมาเชื่อมโยงกับการอธิบายเรื่องดาวลูกไก่ เป็นการเติมความรู้ใหม่ให้กับความรู้เดิมที่เรามีอยู่แล้ว ซื่งจะทำให้สามารถจดจำได้ง่ายกว่าการสอนหรือเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด


ภาพจากการ์ตูนญี่ปุ่นเซนต์เซย่าที่มีเรื่องของกลุ่มดาวจักราศีและกลุ่มดาวอื่นๆเป็นองค์ประกอบของเรื่อง

การ์ตูนญี่ปุ่น เช่น เรื่อง เซนต์เซย่า (ปัจจุบันยังมีขายทั้งหนังสือการ์ตูนและวีดีโอซีดี) มีการกล่าวถืงตัวการ์ตูนที่ใส่ชุดเกราะ(ชุดครอส)ที่เป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มดาวต่างๆบนท้องฟ้า ซึ่งเรียกได้ว่าแทบจะมีเกือบทุกกลุ่มดาวบนท้องฟ้าเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้แล้วเรายังอาจดูกลุ่มดาวบนท้องฟ้าแล้วลองแต่งเรื่องราวของเราเอง หรือให้คนที่เราทำการสอนลองเขียนเรื่องราวที่เขาคิดจากดาวที่เขารู้จัก หรือให้เด็กๆวาดรูปเป็นเรื่องราวของดวงดาว กลุ่มดาวที่เราได้สอนไปก็ยังได้
สิ่งเหล่านี้จะทำให้การสอนดาราศาสตร์ไม่น่าเบื่อและดูไกลตัวอีกต่อไป
และยังทำให้เราเองและผู้ที่เรียนสนุกไปพร้อมกับการได้รับความรู้ไปโดยไม่รู้ตัว และจะจำได้โดยไม่ลืมง่ายๆ
สำหรับท่านที่ไม่รู้จะไปเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ที่ไหน ผมเองก็อาสาจะตามหามาให้ท่านที่สนใจในตอนต่อๆไปนะครับ


โครงการอพอลโลที่ทำการส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ตั้งชื่อตามเทพอพอลโลที่เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ของโรมัน

ไม่มีความคิดเห็น: