วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

สุริยุปราคาวงแหวน 26 ม.ค.52 คราสแรกของปี 52


ภาพจาก apod.nasa.gov/apod/ap020610.html


วันนี้วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พุทธศักราช 2552 เป็นวันที่จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส แบบวงแหวน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดและมองเห็นได้ในทะเลเป็นส่วนใหญ่ครับ โอยที่เงามืดของดวงจันทร์จะเริ่มสัมผัสผิวโลกตั้งแต่เวลา 13.06 น. (เวลาประเทศไทย) บริเวณที่จะเห็นเป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวนได้ก็จะเป็นทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดียซึ่งจะยาวนานถึง 7 นาที 56 วินาที เลยทีเดียวครับ ส่วนบริเวณที่เป็นพื้นทวีปที่จะมองเห็นได้แบบวงแหวนก็จะเป็นที่หมู่เกาะคอคอสหมู่เกาะขนาดเล็กในเครือรัฐออสเตรเลียในมหาสมุทรอินเดีย และถึงทางใต้ของเกาะสุมาตรากับด้านตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ในเวลาประมาณ 16.37 น และผ่านต่อไปถึงช่องแคบกะริมาตา พาดผ่านเกาะบอร์เนียวกับบางส่วนทางตอนเหนือของเกาะเซลีเบส สุริยุปราคาวงแหวนสิ้นสุดในเวลา 16.52 น. เป็นจังหวะที่ศูนย์กลางเงาหลุดออกจากผิวโลกในทะเลเซลีเบส ตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างเกาะเซลีเบสของอินโดนีเซียกับเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 40 วินาที รวมเวลาที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านโลกถึง 3 ชั่วโมง 31 นาทีเลยทีเดียวครับ

ภาพจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สำหรับในประเทศไทยสามารถจะมองเห็นได้เช่นกันหากแต่จะไม่มีโอกาสได้เห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวนครับ เพราะประเทศไทยเราไม่ได้อยู่ในเขตเงามีดของดวงจันทร์แต่อยู่ในเขตเงามัวครับ(อันนี้เดี๋ยวจะอธิบายต่อไปครับ)ทำให้เราคนไทยได้เห็นสุริยุปราคาในครั้งนี้เป็นแบบสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งจะมองเห็นได้ทั่วประเทศครับ โดยในพื้นที่ภาคใต้จะสามารถมองเห็นการบังได้มากกว่าพื้นที่ในภาพอื่นๆ ดังภาพเลยครับ

คราส หรืออุปราคานั้น เป็นปรากฏการณ์ของการบังกัน เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อวัตถุท้องฟ้าหนึ่ง เช่น ดาวเคราะห์หรือดาวบริวารมาอยู่ระหว่างต้นกำเนิดแสง (เช่น ดวงอาทิตย์) กับอีกวัตถุหนึ่ง ทำให้เกิดเงาพาดผ่านไปบนดาวเคราะห์ หรือดาวบริวารนั้นครับ ถ้าดาวบริวาร(เช่นดวงจันทร์)บังแสงจากต้นกำเนิดแสง(ดวงอาทิตย์) เงาที่เกิดจากการบังของดวงจันทร์จะพาดไปบนดาวเคราะห์และถ้าเราอยู่ในจุดที่เงาพาดผ่าน เราก็จะมองเห็นเป็นลักษณะของสุริยุปราคา(ดวงอาทิตย์มืดดับลงหรือเป็นวงแหวนถ้าอยู่ในบริเวณเงามืดจากดวงจันทร์พาดผ่าน หรือเห็นเป็นเสี้ยวเว้าแหว่งลงถ้าเราอยู่ในจุดที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน) และถ้าหากดาวเคราะห์(เช่นโลก) เป็นตัวที่มาบังแสงจากต้นกำเนิดแสง(ดวงอาทิตย์)และเงาของดาวเคราะห์(โลก) พาดไปบนดาวบริวาร(ดวงจันทร์) เราก็จะเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นครับ

ภาพจาก www.flickr.com/photos/leonelserra/116043843/

ประเภทของอุปราคา
อุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นเมื่อผู้สังเกตอยู่ภายใต้เงามืดของดวงจันทร์ ทำให้แสงที่ส่องมาจากดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปทั้งหมด
อุปราคาบางส่วน
สำหรับสุริยุปราคา เกิดขึ้นเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วน โดยผู้สังเกตจะอยู่ภายใต้เงามัวของดวงจันทร์
สำหรับจันทรุปราคา เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ถูกบังบางส่วนโดยเงาของโลก จะเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยว
อุปราคาวงแหวน ในสุริยุปราคา เกิดเหมือนสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เห็นเป็นวงแหวน
อุปราคาแบบผสม ในสุริยุปราคา เหตุการณ์ที่ผู้สังเกตสามารถสังเกตได้จะเห็นเป็นขั้นตอน โดยขั้นแรกจะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน จากนั้นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง จากนั้นก็จะเห็นเป็นแบบวงแหวนอีกครั้ง

เฟสของสุริยุปราคาเต็มดวง
ลำดับขั้นตอนในการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงโดยมองจากผู้สังเกตบนโลก
สัมผัสที่ 1 ด้านตะวันออกของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสกับด้านตะวันตกของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี อากาศเริ่มเย็น ลักษณะธรรมชาติเวลานั้นจะเหมือนเวลาเย็น เมื่อมองดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสง จะเห็นว่าดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วนแล้ว
สัมผัสที่ 2 ดวงจันทร์เริ่มบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ไปเกือบหมด เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะสังเกตได้จากความขรุขระของผิวของดวงจันทร์ จะเห็นแสงสว่างลอดออกมาจากผิวขรุขระนั้น เรียกว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ และ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ดวงดาวสว่างๆ เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อดวงอาทิตย์ถูกบดบังทั้งหมด จะสามารถสังกตเห็นชั้นบรรยากาศโคโรนา ของดวงอาทิตย์ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ในเวลาปกติ นอกจากนี้อาจเห็นพวยแก๊สที่พุ่งออกมาจากชั้นบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ แสงเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเข้าสู่สัมผัสที่ 3
สัมผัสที่ 3 ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนออกไปจากดวงอาทิตย์เกิดปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ และ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ดวงอาทิตย์ที่เคยถูกบดบังก็จะสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่สัมผัสสุดท้าย
สัมผัสสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกไปจากดวงอาทิตย์ทั้งดวง เป็นการสิ้นสุดสุริยุปราคาเต็มดวงอย่างสมบูรณ์

เฟสของจันทรุปราคา

ลำดับขั้นตอนในการเกิดจันทรุปราคาโดยมองจากผู้สังเกตบนโลก
สัมผัสที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าสู่เงามืดของโลก
สัมผัสที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าสู่เงามืดของโลกทั้งดวง ก่อนที่จะเข้าสู่เงามืดเต็มดวง จะเห็นแสงสว่างของดวงจันทร์น้อยมาก แต่ในขณะที่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลกอย่างเต็มดวงแล้ว จะเห็นดวงจันทร์มีสีค่อนข้างแดงเนื่องจากการหักเหของแสง
สัมผัสที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์กำลังเริ่มเคลื่อนออกจากเงามืดของโลก
สัมผัสสุดท้าย เมื่อดวงจันทร์โคจรพ้นเงามืดของโลก สิ้นสุดจันทรุปราคาโดยสมบูรณ์

อุปราคาบนดาวเคราะห์ดวงอื่น

อุปราคาไม่สามารถเกิดขึ้นบนดาวพุธและดาวศุกร์ได้เลย เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ไม่มีดวงจันทร์บริวารของตน
ส่วนอุปราคาบนดาวอังคารนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะอุปราคาแบบบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากดวงจันทร์ของดาวอังคารไม่ใหญ่พอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวงได้
บนดาวพฤหัสสามารถเกิดอุปราคาได้บ่อยครั้งมาก โดยมักเกิดจากดวงจันทร์ดวงใหญ่ 4 ดวง คือ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีตและคัลลิสโต ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเงาของดวงจันทร์บนดาวพฤหัส
ดาวพลูโตก็เป็นอีกดวงหนึ่งที่เกิดอุปราคาได้บ่อย เนื่องจากมีดวงจันทร์ที่ขนาดใหญ่พอๆ กับตัวมันเอง

ข้อมูลจาก :
สามคมดาราศาสตร์ http://thaiastro.nectec.or.th
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org

วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2552

ดาวกับวรรณคดีไทย2

หยุดปีใหม่ซะหลายวันเลยไม่ได้กลับมาเขียนบล็อกเอาเสียเลยครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราก็จะมาต่อกับเรื่องดาวกับวรรณคดีไทยกันต่อนะครับ คราวที่แล้วพูดถึงกลุ่มดาวจรเข้ของไทย หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่(Ursa Major)ในแผนที่ดาวสากล วันนี้ก็มีอีกบทกลอนหนึ่งที่พูดถึงกลุ่มดาวไว้หลายกลุ่ม และเป็นบทกลอนในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีที่เป็นที่รู้จักของคนไทยส่วนใหญ่ จากการประพันธ์ของกวีผู้เป็นซึ่งองค์การยูเนสโกเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ท่านสุนทรภู่ของเรานั่นเองครับ

ดูโน่นแนะแม่อรุณรัศมี
ตรงมือชี้ ดาวเต่า นั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย
ดาวลูกไก่ เคียงคู่เป็นหมู่กัน
องค์อรุณทูลถามพระเจ้าป้า
ที่ตรงหน้าดาวไถ ชื่อไรนั่น
นางบอกว่า ดาวธง อยู่ตรงนั้น
ที่เคียงกันเป็นระนาวชื่อ ดาวโลง
แม้ดาวกา มาใกล้ในมนุษย์
จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง
ดาวดวงลำ สำเภา มีเสากระโดง
สายระโยงระยางหางเสือดาว
นั่นแน่ แม่ดู ดาวจระเข้
ศีรษะเร่หกหางขั้นกลางหาว
ดาวนิดพิศพายัพดูวับวาว
เขาเรียก ดาวยอดมหาจุฬามณี
หน่อนรินทร์สินสมุทรกับบุตรี
เฝ้าเซ้าซี้ซักถามตามสงกา
ท่านคิดว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงกลุ่มดาวกี่กลุ่มกันครับสำหรับคำกลอนสุนทรภู่บทนี้ ที่เห็นชัดๆก็คือ ดาวเต่า ดาวไถ ดาวธง ดาวลูกไก่ ดาวโลง ดาวกา ดาวสำเภา ดาวจรเข้ ดาวยอดมหาจุฬามณี และดาวที่ไม่ได้บอกชัดว่าเป็นกลุ่มดาว เช่น อาชาไนย เสือดาว
สำหรับดาวที่กล่าวมาแล้วหากจะนำมาเทียบกับกลุ่มดาวในแผนที่ดาวสากล ก็คงต้องไล่เรียงกันไปดังนี้ครับ

ภาพจากวิชาการดอทคอมครับhttp://www.vcharkarn.com/vcafe/45208

1. ดาวเต่า คือ ดาวนายพราน Orion
2. ดาวไถ จะเป็นดาวสามดวงตรงกลางหรือเป็นเข็มขัดของกลุ่มดาวนายพราน Orion
3. ดาวธง คือ บริเวณหน้าของกลุ่มดาววัว หรือกลุ่มดาวราศีพฤษภ(Tuarus)
4. ดาวลูกไก่ ในแผนที่สากลจะจัดให้อยู่ในกลุ่มดาววัว จริงๆแล้วดาวลูกไก่เป็นวัสถุท้องฟ้าที่เรียกว่ากระจุกดาวแบบเปิด มีชื่อเรียกว่า Pleiades ครับ
5. ดาวโลง คือ ดาวคนคู่ หรือดาวราศีมิถุน (Gemini)
6. ดาวกา อันนี้ก็ไม่ได้จัดเป็นกลุ่มดาวในแผนที่ดาวสากล แต่เป็นส่วนหนึ่งของดาวคนคู่ครับ บางท่านก็ว่าคือกลุ่มดาวแคสิโอเปียหรือดาวค้างคาวก็มีครับ แต่ถ้าถือเอาดาวเฉพาะที่อยู่ในบริเวณนี้ผมก็คิดว่าน่าจะบริเวณนี้มากกว่าครับ
7. ดาวสำเภา น่าจะเป็นกลุ่มดาวเรืออาร์โกเดิมครับ แต่ตอนนี้เขาแยกเป็นกลุ่มดาวย่อยลงไป เช่น กลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ท้ายเรือ ใบเรือ ดาวที่สว่างเด่นชัดที่สุดในกลุ่มดาวนี้คือดาว Canopus ในกลุ่มดาวนี้ครับ
8. ดาวจรเข้ คือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) รายละเอียดได้กล่าวถึงไปในบทความก่อนแล้วครับ
9. ดาวยอดมหาจุฬามณี ดวงนี้คือดาว Arcturus หรือดาวอัลฟา บูตีส ( Alpha Bootis )ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootus) มีชื่อไทยอีกชื่อคือดาวดวงแก้วครับ
10. อาชาไนย กลุ่มนี้น่าจะกล่าวถึงกลุ่มดาวมาที่อยู่ข้างๆดาวธงครับ โดยดาว Aldebaran หรือดาวโรหิณี จะเป็นส่วนจมูกของดาวม้าครับ
11. เสือดาว กลุ่มนี้ไม่ทราบแน่ชัดครับ แต่คาดว่าน่าจะเป็นดาวที่อยู่ข้างเคียงกับดาวสำเภาครับ

คงต้องบอกฝากไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าท่านใดมีความรู้และอาจเห็นแตกต่างกับผมว่าน่าจะเป็นกลุ่มดาวที่แตกต่างไปจากนี้ก็มาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ครับ จะได้ช่วยกันสร้างองค์ความรุ้ที่ถูกต้องให้กับผู้ที่สนใจต่อไปครับ