วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ลมสุรยะปะทะโลก 18 ก.พ.54


นักวิทยาศาสตร์รายงานว่าช่วงดึกวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึง ช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2011 (ตามเวลามาตรฐานกรีนิช) จะมีลมสุริยะสามลูกพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

ลมสุริยะเกิดขึ้นจากการที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยอนุภาคและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงจำนวนมากออกมาสู่อวกาศ (coronal mass ejection) การเกิดลมสุริยะมักจะมีความเกี่ยวข้องกับการปะทุบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ (solar flare)

ลมสุริยะสามลูกที่พุ่งเข้าชนโลกวันนี้เป็นผลมาจากการปะทุในวันที่ 13, 14 และ15 กุมภาพันธ์ (ตามเวลามาตรฐานกรีนิช) ตามลำดับ โดยเฉพาะลูกสุดท้ายนั้นมีพลังงานและความเร็วสูงมากจนไล่สองลูกแรกมาทันชนโลกได้พร้อมกัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพลังงานของลมสุริยะครั้งนี้น่าจะมากพอจนทำให้คนที่อยู่ในเกาะอังกฤษเห็นแสงเหนือ (Aurora Borealis) ได้เลย

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากลมสุริยะยังส่งผลต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าและสัญญาณสื่อสารของเราด้วย เคยมีตัวอย่างในอดีตมาแล้วว่าลมสุริยะที่แรงมากๆ สามารถทำลายโรงไฟฟ้าหรือแม้กระทั่งดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรได้ แม้นักวิทยาศาสตร์จะค่อนข้างมั่นใจว่าลมสุริยะคราวนี้จะไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่ที่ประเทศจีนมีรายงานแล้วว่าคลื่นวิทยุความถี่สั้นถูกรบกวนในบางพื้นที่ของประเทศ (ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับลมสุริยะหรือไม่)

ที่มา - jusci.net

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

23 กุมภา ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี

วันนี้มีข่าวปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาฝากเช่นเคยครับ คราวนี้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นคือปรากฏการณ์ ดาวล้อมเดือน(Conjunction) และปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (Occultation) ซึ่งจะเกิดขึ้นในคราวเดียวกันและสามารถสังเกตุเห็นได้ด้วยตาเปล่าและจะเห็นได้ดีในกล้องสองตาและกล้องดูดาวทุกขนาด ทั้งยังสารถรถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ในพื้นที่ทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวนีจะเกิดขึ้นในตอนเช้ามืดของวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 นี้ครับ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ใหญ่โตมากหรอกครับ และอาจจะมองเห็นได้ยากเพราะมันเกิดใกล้ขอบฟ้ามาก และช่วงนี้ท้องฟ้าเริ่มมีเมฆหนา แต่หากโชคดีได้มีโอกาสเห็นก็น่าสนใจทีเดียวครับ หรืออย่างน้อยก็ฝากไว้เป็นความรู้นะครับ

สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หรือดาวล้อมเดือนนั้น หลายท่านอาจจะเริ่มคุ้นหูมาบ้างแล้ว จากปรากฏการณ์ พระจันทร์ยิ้ม ที่ได้ทำให้หลายคนประทับใจในความสวยงามของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาแล้วในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ด้าวเคียงเดือนและดาวล้อมเดือนนั้นสามารถเกิดได้ทุกเดือน หากแต่การที่จะมาเรียงตัวในลักษณะที่สวยงามเหมือนปรากฏการณ์พระจันทร์ยิ้มนั้นจะเกิดได้ยากกว่า ส่วนปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยครั้งกว่าปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนครับ

ปรากฏการณ์ครั้งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นวันแรม 14 ค่ำโดยจะเป็นวันที่ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ท่ามกลางดาวเคราะห์ถึง 3 ดวงด้วยกัน ได้แก่ ดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี นอกจากนี้ที่ประเทศไทยเองและพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียจะมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์ที่ดาวพฤหัสบดีถูกดวงจันทร์บัง

ภาพจากคุณวรเชษฐ์บุญปลอด เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เป็นแผนที่แสดงบริเวณที่สามารถจะมองเห็นดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (บริเวณพื้นที่ภายในขอบเขตเส้นสีแดง)

ปรากฏการณ์นี้จะเริ่มต้นขณะที่ดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก จึงอาจสังเกตได้ยากดังที่ได้บอกกล่าวกันไว้ในตอนต้นนะครับ โดยเฉพาะถ้าตอนที่เกิดปรากฏการณ์มีเมฆหมอกมาบดบังในบริเวณใกล้ขอบฟ้า เพราะเท่าที่ดูมาสองสามวันนี้จะมีเมฆหมองที่ขอบฟ้ามากแทบทุกวันครับ

แต่หากสามารถเห็นได้เราจะเห็นดวงจันทร์จะเป็นเสี้ยวบาง ๆ มีส่วนที่สว่างนับเป็นเปอร์เซนต์แล้วจะเป็นเพียงพื้นที่ประมาณ 4 %ของพื้นผิวดวงจันทร์ทั้งดวงเท่านั้น ดวงจันทร์จะเริ่มบังดาวพฤหัสบดี เวลาประมาณ 5.36 น. และหายลับไปที่ขอบด้านสว่างของดวงจันทร์ จากนั้นเวลาประมาณ 6.41 น.ปรากฏการณ์ก็จะสิ้นสุดเมื่อดาวพฤหัสบดีโผล่พ้นขอบด้านมืดซึ่งอยู่ในซีกด้านตรงกันข้าม ซึ่งจะเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและท้องฟ้าสว่างแล้วครับ
ภาพดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีครั้งหลังสุด วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ เมื่อ ๑๑ ปีที่ผ่านมา ถ่ายภาพโดยวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต

ขณะที่ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัสบดีเป็นเวลาที่ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก ประมาณ 19 องศา ถ้าหากโชคดีที่สภาพท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอก ก็อาจพอสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหรือกล้องสองตา แต่ในช่วงที่ดวงจันทร์เคลื่อนตัวออกจากดาวพฤหัสบดีนั้นเป็ฯช่วงหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าแล้ว ท้องฟ้าจะสว่าง การสังเกตด้วยตาเปล่าน่าจะไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากฟ้าจะสว่างจนสามารถจะเห็นดาวพฤหัสบดีได้ แต่ถ้ามีอุปกรณ์เช่นกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงอาจช่วยให้พอมองเห็นดาวพฤหัสบดีได้ลาง ๆ ถ้าหากท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอกมาบดบังนะครับ

อย่างไรก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะโชคดีได้เห็นปรากฏการณ์นี้พร้อมๆกันทุกคนนะครับ จะได้ชื่นชมความสวยงามและความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ธรรมชาติด้วยกันครับ แต่หากว่าไม่สามารถจะมองเห็นได้จริงๆ ก็อย่าเพิ่งเสียใจนะครับ เพราะปีนี้ก็ยังมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกหลายอย่างด้วยกัน ทังสุริยุปราคาแบบบางส่วน วันที่ 22 กรกฏาคม และฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต ที่คาดหมายกันว่าน่าจะเป็นปีที่มีอัตราการตกสูงที่สุดและสวยงามที่สุดอีกปีหนึ่ง ประมาณวันที่ 17 - 18 สิงหาคม ปีนี้นะครับ อย่างไรก็ติดตามชมกันต่อไปนะครับ

ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่ายจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย และเว็บไซต์หอดูดาวบัณฑิตครับ
http://thaiastro.nectec.or.th/
http://www.geocities.com/bundid_observatory/

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มาช้าไปหน่อยครับ จันทรุปราคาเงามัว9กุมภา

ไม่ได้มาเขียนซะยาวนานทีเดียวครับ เพราะมัวไปนั่งทำเว็บไซต์ให้ที่ทำงานเก่าอยู่ ถ้าใครสนใจสถานที่ทำกิจกรรมหรือเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ก็ลองเข้าไปดูได้นะครับ

http://www.scissk.net/

ถ้าดีไม่ดียังไงก็แนะนำติชมเว็บมาสเตอร์มือใหม่ได้นะครับ
คราวนี้มาว่าเรื่องของเราบ้างครับ เมื่อคืนวันมาฆะบูชาที่ผ่านมา (วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552) ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ขึ้นมากอีกครั้ง ซึ่งรู้สึกว่าในปีนี้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆจะเป็นข่าวทางสื่อสารมวลชนมากขึ้นครับ ใครที่ได้ฟังข่าวแล้วได้ไปเฝ้ารอดู อาจมีหลายคนบ่นว่า ไหนฟะไม่เห็นเห็นเหมือนในโทรทัศน์บอกเลย ทั้งที่จริงๆแล้วท่านเองอาจจะเห็นปรากฏการณ์แล้วแต่แยกไม่ออกว่ามันเกิดขึ้นแล้วรึยังกันแน่ แล้วมันเป็นเพราะอะไรกันล่ะ

นั่นก็เป็นเพราะว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาคราวนี้ไม่ได้เป็นแบบเงามืดแบบที่เราคุ้นเคยกัน ว่าจะต้องเห็นดวงจันทร์เว้าแหวงอย่างเห็นได้ชัด แต่จะเป็นแบบเงามัวซึ่งเห็นเพียงแค่ดวงจันทร์มีแสงที่ลดลงจากปกติเท่านั้น ดังภาพข้างล่างนี้ครับ


เวลาที่เกิดจันทรุปราคานั้นจะมีการเรียงตัวกันของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันครับ โดยโลกของเราจะอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ทำให้เกิดเงาทอดไปทางด้านหลังและเงาที่เกิดขึ้นนั้นไปทาบทับลงบนดวงจันทร์ ดังภาพนี้ครับ

จะเห็นว่าเงาที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งเงที่เป็นเงามืดและเงามัวนะครับ ถ้าหากดวงจันทร์ของเราเรียงเป็นเส้นตรงเดียวกับดวงอาทิตย์และโลกพอดีเป๊ะหรือใกล้เคียงมากๆเหมือนในภาพละก็ จะเห็นว่าดวงจันทร์ก็จะอยู่ในเงามืดของโลกพอดีเช่นกัน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ก็จะเกิดปรากฏการณ์จันทร์ทรุปราคาแบบเต็มดวง หรือถ้าดวงจันทร์ไม่ใช่เด็กเรียบร้อยเข้าแถวต่อท้ายดวงอาทิตย์และโลกไม่ตรงนักแต่ยังไม่ถึงกับออกนอกแถว เราก็จะได้พบกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบบางส่วนครับ หรือถ้าแตกแถวออกไปเยอะหน่อยก็จะกลายเป็นจันทรุปราคาแบบในภาพต่อไปนี้นะครับ

ภาพนี้ก็แสดงลักษณะที่ดวงจันทร์อยู่ในแนวเงาของโลกนะครับ
การเกิดจันทรุปราคาที่เพิ่งผ่านมานี้เป็นแบบเงามัวนะครับ ดวงจันทร์อยู่ไม่ตรงแถวเดียวกับดวงอาทิตย์และโลกเป๊ะ แต่เบี่ยงออกไปจนหลุดแนวเงามืดไปอยู่ในเขตเงามัวครับ โดยมีลักษณะการผ่านเข้าสู่เงามัวแบบนี้ครับ

ถ้าใครได้สังเกตดูปรากฏการณ์นี้ตามเวลาที่บอกในรูปภาพแล้วจะได้เห็นแสงของดวงจันทร์ในบริเวณที่เข้าสู่เงามัวนั้นมีแสงสว่างลดลงพอสมควร (ต้องสังเกตดีๆจึงจะเห็น)แต่จะไม่เห็นลักษณะของการเว้าแหว่งอย่างชัดเจนเหมือนจันทรุปราคาแบบเงามืดหรือแบบบางส่วนหรอกนะครับ ใครที่ตั้งใจว่าจะเห็นอย่างนั้นคงน่าเสียดายสักนิดหน่อยละนะครับ แต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีให้เราได้รู้จักปรากฏการณ์จันทรุปราคาในอีกรูปแบบหนึ่งนะครับ และได้ฝึกการสังเกตปรากฏการณ์ที่ต้องใช้การสังเกตที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นอีกขั้นนะครับ

ส่วนถ้าใครยังอยากจะดูจันทรุปราคาอีครั้งอันนี้คงต้องรอนานอีกสักหน่อยนะครับ ต้องรอถึงปีใหม่กันเลยทีเดียวเชียว ทั้งที่จริงแล้วยังจะเกิดจันทรุปราคาเงามัวอีก 2 ครั้งหากแต่เวลาที่เกิดนั้นในบ้านเราจะเป็นตอนกลางวัน และมีการบังน้อยมากทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ครับ นอกจากจันทรุปราคาแล้ว ยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาซึ่งแม้จะเป็นแบบบางส่วนเหมือนครั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ก็ยังน่าตื่นเต้นอยู่ดีใช่ไหมครับ คราวนี้จะเกิดในวันที่ 22 กรกฎาคม ในช่วงเช้านะครับ
เอาไว้ใกล้ๆช่วงเหตุการณ์แล้วเราค่อยมาว่ากันถึงรายละเอียดในปรากฏการณ์เหล่านี้กันอีกทีครับ โดยต่อไปจะพยายามไม่มาสายขนานนี้อีกแล้วนะครับ ไว้คอยติดตามกันต่อไปนะครับ

เอื้อเฟื้อภาพจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย http://thaiastro.nectec.or.th/

และวิกิพีเดียสารานุกรมเสรีครับ http://th.wikipedia.org

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

สุริยุปราคาวงแหวน 26 ม.ค.52 คราสแรกของปี 52


ภาพจาก apod.nasa.gov/apod/ap020610.html


วันนี้วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พุทธศักราช 2552 เป็นวันที่จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส แบบวงแหวน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดและมองเห็นได้ในทะเลเป็นส่วนใหญ่ครับ โอยที่เงามืดของดวงจันทร์จะเริ่มสัมผัสผิวโลกตั้งแต่เวลา 13.06 น. (เวลาประเทศไทย) บริเวณที่จะเห็นเป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวนได้ก็จะเป็นทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดียซึ่งจะยาวนานถึง 7 นาที 56 วินาที เลยทีเดียวครับ ส่วนบริเวณที่เป็นพื้นทวีปที่จะมองเห็นได้แบบวงแหวนก็จะเป็นที่หมู่เกาะคอคอสหมู่เกาะขนาดเล็กในเครือรัฐออสเตรเลียในมหาสมุทรอินเดีย และถึงทางใต้ของเกาะสุมาตรากับด้านตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ในเวลาประมาณ 16.37 น และผ่านต่อไปถึงช่องแคบกะริมาตา พาดผ่านเกาะบอร์เนียวกับบางส่วนทางตอนเหนือของเกาะเซลีเบส สุริยุปราคาวงแหวนสิ้นสุดในเวลา 16.52 น. เป็นจังหวะที่ศูนย์กลางเงาหลุดออกจากผิวโลกในทะเลเซลีเบส ตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างเกาะเซลีเบสของอินโดนีเซียกับเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 40 วินาที รวมเวลาที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านโลกถึง 3 ชั่วโมง 31 นาทีเลยทีเดียวครับ

ภาพจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สำหรับในประเทศไทยสามารถจะมองเห็นได้เช่นกันหากแต่จะไม่มีโอกาสได้เห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวนครับ เพราะประเทศไทยเราไม่ได้อยู่ในเขตเงามีดของดวงจันทร์แต่อยู่ในเขตเงามัวครับ(อันนี้เดี๋ยวจะอธิบายต่อไปครับ)ทำให้เราคนไทยได้เห็นสุริยุปราคาในครั้งนี้เป็นแบบสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งจะมองเห็นได้ทั่วประเทศครับ โดยในพื้นที่ภาคใต้จะสามารถมองเห็นการบังได้มากกว่าพื้นที่ในภาพอื่นๆ ดังภาพเลยครับ

คราส หรืออุปราคานั้น เป็นปรากฏการณ์ของการบังกัน เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อวัตถุท้องฟ้าหนึ่ง เช่น ดาวเคราะห์หรือดาวบริวารมาอยู่ระหว่างต้นกำเนิดแสง (เช่น ดวงอาทิตย์) กับอีกวัตถุหนึ่ง ทำให้เกิดเงาพาดผ่านไปบนดาวเคราะห์ หรือดาวบริวารนั้นครับ ถ้าดาวบริวาร(เช่นดวงจันทร์)บังแสงจากต้นกำเนิดแสง(ดวงอาทิตย์) เงาที่เกิดจากการบังของดวงจันทร์จะพาดไปบนดาวเคราะห์และถ้าเราอยู่ในจุดที่เงาพาดผ่าน เราก็จะมองเห็นเป็นลักษณะของสุริยุปราคา(ดวงอาทิตย์มืดดับลงหรือเป็นวงแหวนถ้าอยู่ในบริเวณเงามืดจากดวงจันทร์พาดผ่าน หรือเห็นเป็นเสี้ยวเว้าแหว่งลงถ้าเราอยู่ในจุดที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน) และถ้าหากดาวเคราะห์(เช่นโลก) เป็นตัวที่มาบังแสงจากต้นกำเนิดแสง(ดวงอาทิตย์)และเงาของดาวเคราะห์(โลก) พาดไปบนดาวบริวาร(ดวงจันทร์) เราก็จะเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นครับ

ภาพจาก www.flickr.com/photos/leonelserra/116043843/

ประเภทของอุปราคา
อุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นเมื่อผู้สังเกตอยู่ภายใต้เงามืดของดวงจันทร์ ทำให้แสงที่ส่องมาจากดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปทั้งหมด
อุปราคาบางส่วน
สำหรับสุริยุปราคา เกิดขึ้นเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วน โดยผู้สังเกตจะอยู่ภายใต้เงามัวของดวงจันทร์
สำหรับจันทรุปราคา เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ถูกบังบางส่วนโดยเงาของโลก จะเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยว
อุปราคาวงแหวน ในสุริยุปราคา เกิดเหมือนสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เห็นเป็นวงแหวน
อุปราคาแบบผสม ในสุริยุปราคา เหตุการณ์ที่ผู้สังเกตสามารถสังเกตได้จะเห็นเป็นขั้นตอน โดยขั้นแรกจะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน จากนั้นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง จากนั้นก็จะเห็นเป็นแบบวงแหวนอีกครั้ง

เฟสของสุริยุปราคาเต็มดวง
ลำดับขั้นตอนในการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงโดยมองจากผู้สังเกตบนโลก
สัมผัสที่ 1 ด้านตะวันออกของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสกับด้านตะวันตกของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี อากาศเริ่มเย็น ลักษณะธรรมชาติเวลานั้นจะเหมือนเวลาเย็น เมื่อมองดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสง จะเห็นว่าดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วนแล้ว
สัมผัสที่ 2 ดวงจันทร์เริ่มบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ไปเกือบหมด เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะสังเกตได้จากความขรุขระของผิวของดวงจันทร์ จะเห็นแสงสว่างลอดออกมาจากผิวขรุขระนั้น เรียกว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ และ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ดวงดาวสว่างๆ เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อดวงอาทิตย์ถูกบดบังทั้งหมด จะสามารถสังกตเห็นชั้นบรรยากาศโคโรนา ของดวงอาทิตย์ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ในเวลาปกติ นอกจากนี้อาจเห็นพวยแก๊สที่พุ่งออกมาจากชั้นบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ แสงเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเข้าสู่สัมผัสที่ 3
สัมผัสที่ 3 ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนออกไปจากดวงอาทิตย์เกิดปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ และ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ดวงอาทิตย์ที่เคยถูกบดบังก็จะสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่สัมผัสสุดท้าย
สัมผัสสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกไปจากดวงอาทิตย์ทั้งดวง เป็นการสิ้นสุดสุริยุปราคาเต็มดวงอย่างสมบูรณ์

เฟสของจันทรุปราคา

ลำดับขั้นตอนในการเกิดจันทรุปราคาโดยมองจากผู้สังเกตบนโลก
สัมผัสที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าสู่เงามืดของโลก
สัมผัสที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าสู่เงามืดของโลกทั้งดวง ก่อนที่จะเข้าสู่เงามืดเต็มดวง จะเห็นแสงสว่างของดวงจันทร์น้อยมาก แต่ในขณะที่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลกอย่างเต็มดวงแล้ว จะเห็นดวงจันทร์มีสีค่อนข้างแดงเนื่องจากการหักเหของแสง
สัมผัสที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์กำลังเริ่มเคลื่อนออกจากเงามืดของโลก
สัมผัสสุดท้าย เมื่อดวงจันทร์โคจรพ้นเงามืดของโลก สิ้นสุดจันทรุปราคาโดยสมบูรณ์

อุปราคาบนดาวเคราะห์ดวงอื่น

อุปราคาไม่สามารถเกิดขึ้นบนดาวพุธและดาวศุกร์ได้เลย เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ไม่มีดวงจันทร์บริวารของตน
ส่วนอุปราคาบนดาวอังคารนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะอุปราคาแบบบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากดวงจันทร์ของดาวอังคารไม่ใหญ่พอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวงได้
บนดาวพฤหัสสามารถเกิดอุปราคาได้บ่อยครั้งมาก โดยมักเกิดจากดวงจันทร์ดวงใหญ่ 4 ดวง คือ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีตและคัลลิสโต ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเงาของดวงจันทร์บนดาวพฤหัส
ดาวพลูโตก็เป็นอีกดวงหนึ่งที่เกิดอุปราคาได้บ่อย เนื่องจากมีดวงจันทร์ที่ขนาดใหญ่พอๆ กับตัวมันเอง

ข้อมูลจาก :
สามคมดาราศาสตร์ http://thaiastro.nectec.or.th
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org

วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2552

ดาวกับวรรณคดีไทย2

หยุดปีใหม่ซะหลายวันเลยไม่ได้กลับมาเขียนบล็อกเอาเสียเลยครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราก็จะมาต่อกับเรื่องดาวกับวรรณคดีไทยกันต่อนะครับ คราวที่แล้วพูดถึงกลุ่มดาวจรเข้ของไทย หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่(Ursa Major)ในแผนที่ดาวสากล วันนี้ก็มีอีกบทกลอนหนึ่งที่พูดถึงกลุ่มดาวไว้หลายกลุ่ม และเป็นบทกลอนในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีที่เป็นที่รู้จักของคนไทยส่วนใหญ่ จากการประพันธ์ของกวีผู้เป็นซึ่งองค์การยูเนสโกเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ท่านสุนทรภู่ของเรานั่นเองครับ

ดูโน่นแนะแม่อรุณรัศมี
ตรงมือชี้ ดาวเต่า นั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย
ดาวลูกไก่ เคียงคู่เป็นหมู่กัน
องค์อรุณทูลถามพระเจ้าป้า
ที่ตรงหน้าดาวไถ ชื่อไรนั่น
นางบอกว่า ดาวธง อยู่ตรงนั้น
ที่เคียงกันเป็นระนาวชื่อ ดาวโลง
แม้ดาวกา มาใกล้ในมนุษย์
จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง
ดาวดวงลำ สำเภา มีเสากระโดง
สายระโยงระยางหางเสือดาว
นั่นแน่ แม่ดู ดาวจระเข้
ศีรษะเร่หกหางขั้นกลางหาว
ดาวนิดพิศพายัพดูวับวาว
เขาเรียก ดาวยอดมหาจุฬามณี
หน่อนรินทร์สินสมุทรกับบุตรี
เฝ้าเซ้าซี้ซักถามตามสงกา
ท่านคิดว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงกลุ่มดาวกี่กลุ่มกันครับสำหรับคำกลอนสุนทรภู่บทนี้ ที่เห็นชัดๆก็คือ ดาวเต่า ดาวไถ ดาวธง ดาวลูกไก่ ดาวโลง ดาวกา ดาวสำเภา ดาวจรเข้ ดาวยอดมหาจุฬามณี และดาวที่ไม่ได้บอกชัดว่าเป็นกลุ่มดาว เช่น อาชาไนย เสือดาว
สำหรับดาวที่กล่าวมาแล้วหากจะนำมาเทียบกับกลุ่มดาวในแผนที่ดาวสากล ก็คงต้องไล่เรียงกันไปดังนี้ครับ

ภาพจากวิชาการดอทคอมครับhttp://www.vcharkarn.com/vcafe/45208

1. ดาวเต่า คือ ดาวนายพราน Orion
2. ดาวไถ จะเป็นดาวสามดวงตรงกลางหรือเป็นเข็มขัดของกลุ่มดาวนายพราน Orion
3. ดาวธง คือ บริเวณหน้าของกลุ่มดาววัว หรือกลุ่มดาวราศีพฤษภ(Tuarus)
4. ดาวลูกไก่ ในแผนที่สากลจะจัดให้อยู่ในกลุ่มดาววัว จริงๆแล้วดาวลูกไก่เป็นวัสถุท้องฟ้าที่เรียกว่ากระจุกดาวแบบเปิด มีชื่อเรียกว่า Pleiades ครับ
5. ดาวโลง คือ ดาวคนคู่ หรือดาวราศีมิถุน (Gemini)
6. ดาวกา อันนี้ก็ไม่ได้จัดเป็นกลุ่มดาวในแผนที่ดาวสากล แต่เป็นส่วนหนึ่งของดาวคนคู่ครับ บางท่านก็ว่าคือกลุ่มดาวแคสิโอเปียหรือดาวค้างคาวก็มีครับ แต่ถ้าถือเอาดาวเฉพาะที่อยู่ในบริเวณนี้ผมก็คิดว่าน่าจะบริเวณนี้มากกว่าครับ
7. ดาวสำเภา น่าจะเป็นกลุ่มดาวเรืออาร์โกเดิมครับ แต่ตอนนี้เขาแยกเป็นกลุ่มดาวย่อยลงไป เช่น กลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ท้ายเรือ ใบเรือ ดาวที่สว่างเด่นชัดที่สุดในกลุ่มดาวนี้คือดาว Canopus ในกลุ่มดาวนี้ครับ
8. ดาวจรเข้ คือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) รายละเอียดได้กล่าวถึงไปในบทความก่อนแล้วครับ
9. ดาวยอดมหาจุฬามณี ดวงนี้คือดาว Arcturus หรือดาวอัลฟา บูตีส ( Alpha Bootis )ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootus) มีชื่อไทยอีกชื่อคือดาวดวงแก้วครับ
10. อาชาไนย กลุ่มนี้น่าจะกล่าวถึงกลุ่มดาวมาที่อยู่ข้างๆดาวธงครับ โดยดาว Aldebaran หรือดาวโรหิณี จะเป็นส่วนจมูกของดาวม้าครับ
11. เสือดาว กลุ่มนี้ไม่ทราบแน่ชัดครับ แต่คาดว่าน่าจะเป็นดาวที่อยู่ข้างเคียงกับดาวสำเภาครับ

คงต้องบอกฝากไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าท่านใดมีความรู้และอาจเห็นแตกต่างกับผมว่าน่าจะเป็นกลุ่มดาวที่แตกต่างไปจากนี้ก็มาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ครับ จะได้ช่วยกันสร้างองค์ความรุ้ที่ถูกต้องให้กับผู้ที่สนใจต่อไปครับ

วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ดาวกับวรรณคดีไทย

ถ้าบอกว่าคนไทยเราเก่งดาราศาสตร์มาแต่โบราณ ท่านจะเชื่อกันไหมครับ จริงๆแล้วคนไทยรู้จักการดูดาวมานานมาก ยกตัวอย่างเช่นในกลอนบทหนึ่งที่น่าจะเคยได้ยินกัน

สักวาดาวจระเข้ก็เหหก
ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว
น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
ลมเรื่อย เรื่อย เฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ
ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
สกุณากาดุเหว่าก็เร่าร้อง
ดูแสงทองจับขอบฟ้าขอลาเอย
บทกลอนนี้กล่าวถึง ดาวจระเข้ที่ไทยใช้เรียก "ดาวหมีใหญ่" หรือดาว Ursa Major ที่เป็นชื่อเรียกในกลุ่มดาวนี้ในแผนที่ดาวสากลครับ แต่ละประเทศก็จะเรียกไปตามพื้นที่หรือตามวัฒนธรรมของตนเอง เช่นที่เราเรียกดาวกลุ่มนี้ว่าดาวจระเข้ ก็เพราะบ้านคนไทยเรามักตั้งอยู่ริมน้ำ และได้พบเห็นจระเข้ได้บ่อย เมื่อเห็นภาพดาวกลุ่มนี้(ดูเฉพาะบริเวณลำตัวที่ยาวคล้ายลำตัวจรเข้และหางที่ยาวครับ)
สำหรับชาวต่างชาติ(โดยเฉพาะทางยุโรป) หลายประเทศก็จะมีหมีเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ เมื่อเห็นภาพกลุ่มดาวนี้ก็เรียกเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ บางประเทศก็จะเรียกแตกต่างกันไปเช่น ดาวกระบวยใหญ่ (ดูเฉพาะบริเวณสะโพกและหางของหมีจะเหมือนกับกระบวยตักน้ำครับ) หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองยังเรียกต่างกันเลยนะครับ คนไทยทางภาคเหนือจะเรียกว่าดาวช้าง (น่าจะดูกลับด้านหางของหมีเป็นงวงช้างนะครับถึงจะดูเหมือนช้างครับ)

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โปแกรมท้องฟ้าจำลองและระบบสุริยะจำลอง(อีกครั้ง)


จบงานไปอีกหนึ่งงาน
ได้กลับมามีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง
ทำงานอย่างอื่นบ้างสักที
งานนี้เล่นเอาเพื่อนร่วมงาน
รวมทั้งตัวผมเองไข้ขึ้นไปเลย
แต่ก็ด้วยความเต็มใจครับ
ถ้าเป็นละคร คงตัองนับว่า...
เป็นฉากจบที่สวยงามและประทับใจมากทีเดียว
หลังจากค่ายนี้แล้วถ้าหากได้ทำค่ายอีก
ก็คงไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานของที่ทำงานอีกแล้ว
นับได้ว่าเป็นงานสุดท้ายของหน้าที่การงานปัจจุบันครับ
หลังจากนี้คงได้มาทำบล็อกและเว็บไซต์ได้เต็มตัว
ตั้งใจไว้ว่าจะทำเว็บเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์
ที่ดีๆสักเว็บหนึ่งครับ ก็คาดว่าน่าจะทำได้ระดับหนึ่ง





มีน้องๆในค่ายวิทย์ฯที่ผ่านมาอยากได้โปรแกรมดูดาว
แต่กลับมาดูที่บล็อกตัวเองแล้ว
มันถูกเก็บเป็นบทความเก่าไปเรียบร้อย
และดูเหมือนว่าลิงค์เดิมจะเสียเอาเสียด้วย
ก็ขอเอามาลงให้ดาวน์โหลดใหม่กันตรงนี้เลยแล้วกันครับ


อีกโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจเป็นโปรแกรมระบบสุริยะเสมือนจริง
Solar System Simulator
เป็นการ่จำลองเรื่องราวของระบบสุริยะ
และปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้อง
ก็ลองๆเอาไปใช้กันดูนะครับ