วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

สุริยุปราคาวงแหวน 26 ม.ค.52 คราสแรกของปี 52


ภาพจาก apod.nasa.gov/apod/ap020610.html


วันนี้วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พุทธศักราช 2552 เป็นวันที่จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส แบบวงแหวน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดและมองเห็นได้ในทะเลเป็นส่วนใหญ่ครับ โอยที่เงามืดของดวงจันทร์จะเริ่มสัมผัสผิวโลกตั้งแต่เวลา 13.06 น. (เวลาประเทศไทย) บริเวณที่จะเห็นเป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวนได้ก็จะเป็นทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดียซึ่งจะยาวนานถึง 7 นาที 56 วินาที เลยทีเดียวครับ ส่วนบริเวณที่เป็นพื้นทวีปที่จะมองเห็นได้แบบวงแหวนก็จะเป็นที่หมู่เกาะคอคอสหมู่เกาะขนาดเล็กในเครือรัฐออสเตรเลียในมหาสมุทรอินเดีย และถึงทางใต้ของเกาะสุมาตรากับด้านตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ในเวลาประมาณ 16.37 น และผ่านต่อไปถึงช่องแคบกะริมาตา พาดผ่านเกาะบอร์เนียวกับบางส่วนทางตอนเหนือของเกาะเซลีเบส สุริยุปราคาวงแหวนสิ้นสุดในเวลา 16.52 น. เป็นจังหวะที่ศูนย์กลางเงาหลุดออกจากผิวโลกในทะเลเซลีเบส ตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างเกาะเซลีเบสของอินโดนีเซียกับเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 40 วินาที รวมเวลาที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านโลกถึง 3 ชั่วโมง 31 นาทีเลยทีเดียวครับ

ภาพจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สำหรับในประเทศไทยสามารถจะมองเห็นได้เช่นกันหากแต่จะไม่มีโอกาสได้เห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวนครับ เพราะประเทศไทยเราไม่ได้อยู่ในเขตเงามีดของดวงจันทร์แต่อยู่ในเขตเงามัวครับ(อันนี้เดี๋ยวจะอธิบายต่อไปครับ)ทำให้เราคนไทยได้เห็นสุริยุปราคาในครั้งนี้เป็นแบบสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งจะมองเห็นได้ทั่วประเทศครับ โดยในพื้นที่ภาคใต้จะสามารถมองเห็นการบังได้มากกว่าพื้นที่ในภาพอื่นๆ ดังภาพเลยครับ

คราส หรืออุปราคานั้น เป็นปรากฏการณ์ของการบังกัน เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อวัตถุท้องฟ้าหนึ่ง เช่น ดาวเคราะห์หรือดาวบริวารมาอยู่ระหว่างต้นกำเนิดแสง (เช่น ดวงอาทิตย์) กับอีกวัตถุหนึ่ง ทำให้เกิดเงาพาดผ่านไปบนดาวเคราะห์ หรือดาวบริวารนั้นครับ ถ้าดาวบริวาร(เช่นดวงจันทร์)บังแสงจากต้นกำเนิดแสง(ดวงอาทิตย์) เงาที่เกิดจากการบังของดวงจันทร์จะพาดไปบนดาวเคราะห์และถ้าเราอยู่ในจุดที่เงาพาดผ่าน เราก็จะมองเห็นเป็นลักษณะของสุริยุปราคา(ดวงอาทิตย์มืดดับลงหรือเป็นวงแหวนถ้าอยู่ในบริเวณเงามืดจากดวงจันทร์พาดผ่าน หรือเห็นเป็นเสี้ยวเว้าแหว่งลงถ้าเราอยู่ในจุดที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน) และถ้าหากดาวเคราะห์(เช่นโลก) เป็นตัวที่มาบังแสงจากต้นกำเนิดแสง(ดวงอาทิตย์)และเงาของดาวเคราะห์(โลก) พาดไปบนดาวบริวาร(ดวงจันทร์) เราก็จะเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นครับ

ภาพจาก www.flickr.com/photos/leonelserra/116043843/

ประเภทของอุปราคา
อุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นเมื่อผู้สังเกตอยู่ภายใต้เงามืดของดวงจันทร์ ทำให้แสงที่ส่องมาจากดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปทั้งหมด
อุปราคาบางส่วน
สำหรับสุริยุปราคา เกิดขึ้นเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วน โดยผู้สังเกตจะอยู่ภายใต้เงามัวของดวงจันทร์
สำหรับจันทรุปราคา เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ถูกบังบางส่วนโดยเงาของโลก จะเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยว
อุปราคาวงแหวน ในสุริยุปราคา เกิดเหมือนสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เห็นเป็นวงแหวน
อุปราคาแบบผสม ในสุริยุปราคา เหตุการณ์ที่ผู้สังเกตสามารถสังเกตได้จะเห็นเป็นขั้นตอน โดยขั้นแรกจะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน จากนั้นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง จากนั้นก็จะเห็นเป็นแบบวงแหวนอีกครั้ง

เฟสของสุริยุปราคาเต็มดวง
ลำดับขั้นตอนในการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงโดยมองจากผู้สังเกตบนโลก
สัมผัสที่ 1 ด้านตะวันออกของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสกับด้านตะวันตกของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี อากาศเริ่มเย็น ลักษณะธรรมชาติเวลานั้นจะเหมือนเวลาเย็น เมื่อมองดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสง จะเห็นว่าดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วนแล้ว
สัมผัสที่ 2 ดวงจันทร์เริ่มบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ไปเกือบหมด เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะสังเกตได้จากความขรุขระของผิวของดวงจันทร์ จะเห็นแสงสว่างลอดออกมาจากผิวขรุขระนั้น เรียกว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ และ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ดวงดาวสว่างๆ เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อดวงอาทิตย์ถูกบดบังทั้งหมด จะสามารถสังกตเห็นชั้นบรรยากาศโคโรนา ของดวงอาทิตย์ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ในเวลาปกติ นอกจากนี้อาจเห็นพวยแก๊สที่พุ่งออกมาจากชั้นบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ แสงเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเข้าสู่สัมผัสที่ 3
สัมผัสที่ 3 ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนออกไปจากดวงอาทิตย์เกิดปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ และ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ดวงอาทิตย์ที่เคยถูกบดบังก็จะสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่สัมผัสสุดท้าย
สัมผัสสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกไปจากดวงอาทิตย์ทั้งดวง เป็นการสิ้นสุดสุริยุปราคาเต็มดวงอย่างสมบูรณ์

เฟสของจันทรุปราคา

ลำดับขั้นตอนในการเกิดจันทรุปราคาโดยมองจากผู้สังเกตบนโลก
สัมผัสที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าสู่เงามืดของโลก
สัมผัสที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าสู่เงามืดของโลกทั้งดวง ก่อนที่จะเข้าสู่เงามืดเต็มดวง จะเห็นแสงสว่างของดวงจันทร์น้อยมาก แต่ในขณะที่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลกอย่างเต็มดวงแล้ว จะเห็นดวงจันทร์มีสีค่อนข้างแดงเนื่องจากการหักเหของแสง
สัมผัสที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์กำลังเริ่มเคลื่อนออกจากเงามืดของโลก
สัมผัสสุดท้าย เมื่อดวงจันทร์โคจรพ้นเงามืดของโลก สิ้นสุดจันทรุปราคาโดยสมบูรณ์

อุปราคาบนดาวเคราะห์ดวงอื่น

อุปราคาไม่สามารถเกิดขึ้นบนดาวพุธและดาวศุกร์ได้เลย เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ไม่มีดวงจันทร์บริวารของตน
ส่วนอุปราคาบนดาวอังคารนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะอุปราคาแบบบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากดวงจันทร์ของดาวอังคารไม่ใหญ่พอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวงได้
บนดาวพฤหัสสามารถเกิดอุปราคาได้บ่อยครั้งมาก โดยมักเกิดจากดวงจันทร์ดวงใหญ่ 4 ดวง คือ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีตและคัลลิสโต ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเงาของดวงจันทร์บนดาวพฤหัส
ดาวพลูโตก็เป็นอีกดวงหนึ่งที่เกิดอุปราคาได้บ่อย เนื่องจากมีดวงจันทร์ที่ขนาดใหญ่พอๆ กับตัวมันเอง

ข้อมูลจาก :
สามคมดาราศาสตร์ http://thaiastro.nectec.or.th
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น: