วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มาช้าไปหน่อยครับ จันทรุปราคาเงามัว9กุมภา

ไม่ได้มาเขียนซะยาวนานทีเดียวครับ เพราะมัวไปนั่งทำเว็บไซต์ให้ที่ทำงานเก่าอยู่ ถ้าใครสนใจสถานที่ทำกิจกรรมหรือเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ก็ลองเข้าไปดูได้นะครับ

http://www.scissk.net/

ถ้าดีไม่ดียังไงก็แนะนำติชมเว็บมาสเตอร์มือใหม่ได้นะครับ
คราวนี้มาว่าเรื่องของเราบ้างครับ เมื่อคืนวันมาฆะบูชาที่ผ่านมา (วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552) ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ขึ้นมากอีกครั้ง ซึ่งรู้สึกว่าในปีนี้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆจะเป็นข่าวทางสื่อสารมวลชนมากขึ้นครับ ใครที่ได้ฟังข่าวแล้วได้ไปเฝ้ารอดู อาจมีหลายคนบ่นว่า ไหนฟะไม่เห็นเห็นเหมือนในโทรทัศน์บอกเลย ทั้งที่จริงๆแล้วท่านเองอาจจะเห็นปรากฏการณ์แล้วแต่แยกไม่ออกว่ามันเกิดขึ้นแล้วรึยังกันแน่ แล้วมันเป็นเพราะอะไรกันล่ะ

นั่นก็เป็นเพราะว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาคราวนี้ไม่ได้เป็นแบบเงามืดแบบที่เราคุ้นเคยกัน ว่าจะต้องเห็นดวงจันทร์เว้าแหวงอย่างเห็นได้ชัด แต่จะเป็นแบบเงามัวซึ่งเห็นเพียงแค่ดวงจันทร์มีแสงที่ลดลงจากปกติเท่านั้น ดังภาพข้างล่างนี้ครับ


เวลาที่เกิดจันทรุปราคานั้นจะมีการเรียงตัวกันของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันครับ โดยโลกของเราจะอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ทำให้เกิดเงาทอดไปทางด้านหลังและเงาที่เกิดขึ้นนั้นไปทาบทับลงบนดวงจันทร์ ดังภาพนี้ครับ

จะเห็นว่าเงาที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งเงที่เป็นเงามืดและเงามัวนะครับ ถ้าหากดวงจันทร์ของเราเรียงเป็นเส้นตรงเดียวกับดวงอาทิตย์และโลกพอดีเป๊ะหรือใกล้เคียงมากๆเหมือนในภาพละก็ จะเห็นว่าดวงจันทร์ก็จะอยู่ในเงามืดของโลกพอดีเช่นกัน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ก็จะเกิดปรากฏการณ์จันทร์ทรุปราคาแบบเต็มดวง หรือถ้าดวงจันทร์ไม่ใช่เด็กเรียบร้อยเข้าแถวต่อท้ายดวงอาทิตย์และโลกไม่ตรงนักแต่ยังไม่ถึงกับออกนอกแถว เราก็จะได้พบกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบบางส่วนครับ หรือถ้าแตกแถวออกไปเยอะหน่อยก็จะกลายเป็นจันทรุปราคาแบบในภาพต่อไปนี้นะครับ

ภาพนี้ก็แสดงลักษณะที่ดวงจันทร์อยู่ในแนวเงาของโลกนะครับ
การเกิดจันทรุปราคาที่เพิ่งผ่านมานี้เป็นแบบเงามัวนะครับ ดวงจันทร์อยู่ไม่ตรงแถวเดียวกับดวงอาทิตย์และโลกเป๊ะ แต่เบี่ยงออกไปจนหลุดแนวเงามืดไปอยู่ในเขตเงามัวครับ โดยมีลักษณะการผ่านเข้าสู่เงามัวแบบนี้ครับ

ถ้าใครได้สังเกตดูปรากฏการณ์นี้ตามเวลาที่บอกในรูปภาพแล้วจะได้เห็นแสงของดวงจันทร์ในบริเวณที่เข้าสู่เงามัวนั้นมีแสงสว่างลดลงพอสมควร (ต้องสังเกตดีๆจึงจะเห็น)แต่จะไม่เห็นลักษณะของการเว้าแหว่งอย่างชัดเจนเหมือนจันทรุปราคาแบบเงามืดหรือแบบบางส่วนหรอกนะครับ ใครที่ตั้งใจว่าจะเห็นอย่างนั้นคงน่าเสียดายสักนิดหน่อยละนะครับ แต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีให้เราได้รู้จักปรากฏการณ์จันทรุปราคาในอีกรูปแบบหนึ่งนะครับ และได้ฝึกการสังเกตปรากฏการณ์ที่ต้องใช้การสังเกตที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นอีกขั้นนะครับ

ส่วนถ้าใครยังอยากจะดูจันทรุปราคาอีครั้งอันนี้คงต้องรอนานอีกสักหน่อยนะครับ ต้องรอถึงปีใหม่กันเลยทีเดียวเชียว ทั้งที่จริงแล้วยังจะเกิดจันทรุปราคาเงามัวอีก 2 ครั้งหากแต่เวลาที่เกิดนั้นในบ้านเราจะเป็นตอนกลางวัน และมีการบังน้อยมากทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ครับ นอกจากจันทรุปราคาแล้ว ยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาซึ่งแม้จะเป็นแบบบางส่วนเหมือนครั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ก็ยังน่าตื่นเต้นอยู่ดีใช่ไหมครับ คราวนี้จะเกิดในวันที่ 22 กรกฎาคม ในช่วงเช้านะครับ
เอาไว้ใกล้ๆช่วงเหตุการณ์แล้วเราค่อยมาว่ากันถึงรายละเอียดในปรากฏการณ์เหล่านี้กันอีกทีครับ โดยต่อไปจะพยายามไม่มาสายขนานนี้อีกแล้วนะครับ ไว้คอยติดตามกันต่อไปนะครับ

เอื้อเฟื้อภาพจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย http://thaiastro.nectec.or.th/

และวิกิพีเดียสารานุกรมเสรีครับ http://th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น: