วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2552

ดาวกับวรรณคดีไทย2

หยุดปีใหม่ซะหลายวันเลยไม่ได้กลับมาเขียนบล็อกเอาเสียเลยครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราก็จะมาต่อกับเรื่องดาวกับวรรณคดีไทยกันต่อนะครับ คราวที่แล้วพูดถึงกลุ่มดาวจรเข้ของไทย หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่(Ursa Major)ในแผนที่ดาวสากล วันนี้ก็มีอีกบทกลอนหนึ่งที่พูดถึงกลุ่มดาวไว้หลายกลุ่ม และเป็นบทกลอนในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีที่เป็นที่รู้จักของคนไทยส่วนใหญ่ จากการประพันธ์ของกวีผู้เป็นซึ่งองค์การยูเนสโกเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ท่านสุนทรภู่ของเรานั่นเองครับ

ดูโน่นแนะแม่อรุณรัศมี
ตรงมือชี้ ดาวเต่า นั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย
ดาวลูกไก่ เคียงคู่เป็นหมู่กัน
องค์อรุณทูลถามพระเจ้าป้า
ที่ตรงหน้าดาวไถ ชื่อไรนั่น
นางบอกว่า ดาวธง อยู่ตรงนั้น
ที่เคียงกันเป็นระนาวชื่อ ดาวโลง
แม้ดาวกา มาใกล้ในมนุษย์
จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง
ดาวดวงลำ สำเภา มีเสากระโดง
สายระโยงระยางหางเสือดาว
นั่นแน่ แม่ดู ดาวจระเข้
ศีรษะเร่หกหางขั้นกลางหาว
ดาวนิดพิศพายัพดูวับวาว
เขาเรียก ดาวยอดมหาจุฬามณี
หน่อนรินทร์สินสมุทรกับบุตรี
เฝ้าเซ้าซี้ซักถามตามสงกา
ท่านคิดว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงกลุ่มดาวกี่กลุ่มกันครับสำหรับคำกลอนสุนทรภู่บทนี้ ที่เห็นชัดๆก็คือ ดาวเต่า ดาวไถ ดาวธง ดาวลูกไก่ ดาวโลง ดาวกา ดาวสำเภา ดาวจรเข้ ดาวยอดมหาจุฬามณี และดาวที่ไม่ได้บอกชัดว่าเป็นกลุ่มดาว เช่น อาชาไนย เสือดาว
สำหรับดาวที่กล่าวมาแล้วหากจะนำมาเทียบกับกลุ่มดาวในแผนที่ดาวสากล ก็คงต้องไล่เรียงกันไปดังนี้ครับ

ภาพจากวิชาการดอทคอมครับhttp://www.vcharkarn.com/vcafe/45208

1. ดาวเต่า คือ ดาวนายพราน Orion
2. ดาวไถ จะเป็นดาวสามดวงตรงกลางหรือเป็นเข็มขัดของกลุ่มดาวนายพราน Orion
3. ดาวธง คือ บริเวณหน้าของกลุ่มดาววัว หรือกลุ่มดาวราศีพฤษภ(Tuarus)
4. ดาวลูกไก่ ในแผนที่สากลจะจัดให้อยู่ในกลุ่มดาววัว จริงๆแล้วดาวลูกไก่เป็นวัสถุท้องฟ้าที่เรียกว่ากระจุกดาวแบบเปิด มีชื่อเรียกว่า Pleiades ครับ
5. ดาวโลง คือ ดาวคนคู่ หรือดาวราศีมิถุน (Gemini)
6. ดาวกา อันนี้ก็ไม่ได้จัดเป็นกลุ่มดาวในแผนที่ดาวสากล แต่เป็นส่วนหนึ่งของดาวคนคู่ครับ บางท่านก็ว่าคือกลุ่มดาวแคสิโอเปียหรือดาวค้างคาวก็มีครับ แต่ถ้าถือเอาดาวเฉพาะที่อยู่ในบริเวณนี้ผมก็คิดว่าน่าจะบริเวณนี้มากกว่าครับ
7. ดาวสำเภา น่าจะเป็นกลุ่มดาวเรืออาร์โกเดิมครับ แต่ตอนนี้เขาแยกเป็นกลุ่มดาวย่อยลงไป เช่น กลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ท้ายเรือ ใบเรือ ดาวที่สว่างเด่นชัดที่สุดในกลุ่มดาวนี้คือดาว Canopus ในกลุ่มดาวนี้ครับ
8. ดาวจรเข้ คือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) รายละเอียดได้กล่าวถึงไปในบทความก่อนแล้วครับ
9. ดาวยอดมหาจุฬามณี ดวงนี้คือดาว Arcturus หรือดาวอัลฟา บูตีส ( Alpha Bootis )ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootus) มีชื่อไทยอีกชื่อคือดาวดวงแก้วครับ
10. อาชาไนย กลุ่มนี้น่าจะกล่าวถึงกลุ่มดาวมาที่อยู่ข้างๆดาวธงครับ โดยดาว Aldebaran หรือดาวโรหิณี จะเป็นส่วนจมูกของดาวม้าครับ
11. เสือดาว กลุ่มนี้ไม่ทราบแน่ชัดครับ แต่คาดว่าน่าจะเป็นดาวที่อยู่ข้างเคียงกับดาวสำเภาครับ

คงต้องบอกฝากไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าท่านใดมีความรู้และอาจเห็นแตกต่างกับผมว่าน่าจะเป็นกลุ่มดาวที่แตกต่างไปจากนี้ก็มาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ครับ จะได้ช่วยกันสร้างองค์ความรุ้ที่ถูกต้องให้กับผู้ที่สนใจต่อไปครับ

1 ความคิดเห็น:

Tassporn กล่าวว่า...

ผมคิดว่า ท้องฟ้าในกลอนบทนี้กว้างมาก ชีวิตจริงหากเริ่มดูดาวหัวค่ำขณะที่เห็นดาวธง ดาวลูกไก่ จะไม่มีทางได้เห็นดาวจรเข้เลย เพราะต้องรอเกือบสว่างกว่าจะเห็นดาวจรเข้มาอยู่กลางฟ้าด้านเหนือ ในบทบอกว่าจรเข้หันหางขึ้นกลางหาว แสดงว่าดาวจรเข้ก็ใกล้ตกดินแล้ว สรุปว่าดูดาวกันนานมากเกิน 12 ชั่วโมง สุนทรภู่แต่บทช่วงนี้โดยความทรงจำมากกว่าไปจดจากท้องฟ้าจริงขณะเขียนกระมังครับ