วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

23 กุมภา ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี

วันนี้มีข่าวปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาฝากเช่นเคยครับ คราวนี้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นคือปรากฏการณ์ ดาวล้อมเดือน(Conjunction) และปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (Occultation) ซึ่งจะเกิดขึ้นในคราวเดียวกันและสามารถสังเกตุเห็นได้ด้วยตาเปล่าและจะเห็นได้ดีในกล้องสองตาและกล้องดูดาวทุกขนาด ทั้งยังสารถรถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ในพื้นที่ทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวนีจะเกิดขึ้นในตอนเช้ามืดของวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 นี้ครับ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ใหญ่โตมากหรอกครับ และอาจจะมองเห็นได้ยากเพราะมันเกิดใกล้ขอบฟ้ามาก และช่วงนี้ท้องฟ้าเริ่มมีเมฆหนา แต่หากโชคดีได้มีโอกาสเห็นก็น่าสนใจทีเดียวครับ หรืออย่างน้อยก็ฝากไว้เป็นความรู้นะครับ

สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หรือดาวล้อมเดือนนั้น หลายท่านอาจจะเริ่มคุ้นหูมาบ้างแล้ว จากปรากฏการณ์ พระจันทร์ยิ้ม ที่ได้ทำให้หลายคนประทับใจในความสวยงามของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาแล้วในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ด้าวเคียงเดือนและดาวล้อมเดือนนั้นสามารถเกิดได้ทุกเดือน หากแต่การที่จะมาเรียงตัวในลักษณะที่สวยงามเหมือนปรากฏการณ์พระจันทร์ยิ้มนั้นจะเกิดได้ยากกว่า ส่วนปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยครั้งกว่าปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนครับ

ปรากฏการณ์ครั้งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นวันแรม 14 ค่ำโดยจะเป็นวันที่ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ท่ามกลางดาวเคราะห์ถึง 3 ดวงด้วยกัน ได้แก่ ดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี นอกจากนี้ที่ประเทศไทยเองและพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียจะมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์ที่ดาวพฤหัสบดีถูกดวงจันทร์บัง

ภาพจากคุณวรเชษฐ์บุญปลอด เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เป็นแผนที่แสดงบริเวณที่สามารถจะมองเห็นดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (บริเวณพื้นที่ภายในขอบเขตเส้นสีแดง)

ปรากฏการณ์นี้จะเริ่มต้นขณะที่ดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก จึงอาจสังเกตได้ยากดังที่ได้บอกกล่าวกันไว้ในตอนต้นนะครับ โดยเฉพาะถ้าตอนที่เกิดปรากฏการณ์มีเมฆหมอกมาบดบังในบริเวณใกล้ขอบฟ้า เพราะเท่าที่ดูมาสองสามวันนี้จะมีเมฆหมองที่ขอบฟ้ามากแทบทุกวันครับ

แต่หากสามารถเห็นได้เราจะเห็นดวงจันทร์จะเป็นเสี้ยวบาง ๆ มีส่วนที่สว่างนับเป็นเปอร์เซนต์แล้วจะเป็นเพียงพื้นที่ประมาณ 4 %ของพื้นผิวดวงจันทร์ทั้งดวงเท่านั้น ดวงจันทร์จะเริ่มบังดาวพฤหัสบดี เวลาประมาณ 5.36 น. และหายลับไปที่ขอบด้านสว่างของดวงจันทร์ จากนั้นเวลาประมาณ 6.41 น.ปรากฏการณ์ก็จะสิ้นสุดเมื่อดาวพฤหัสบดีโผล่พ้นขอบด้านมืดซึ่งอยู่ในซีกด้านตรงกันข้าม ซึ่งจะเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและท้องฟ้าสว่างแล้วครับ
ภาพดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีครั้งหลังสุด วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ เมื่อ ๑๑ ปีที่ผ่านมา ถ่ายภาพโดยวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต

ขณะที่ดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัสบดีเป็นเวลาที่ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก ประมาณ 19 องศา ถ้าหากโชคดีที่สภาพท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอก ก็อาจพอสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหรือกล้องสองตา แต่ในช่วงที่ดวงจันทร์เคลื่อนตัวออกจากดาวพฤหัสบดีนั้นเป็ฯช่วงหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าแล้ว ท้องฟ้าจะสว่าง การสังเกตด้วยตาเปล่าน่าจะไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากฟ้าจะสว่างจนสามารถจะเห็นดาวพฤหัสบดีได้ แต่ถ้ามีอุปกรณ์เช่นกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงอาจช่วยให้พอมองเห็นดาวพฤหัสบดีได้ลาง ๆ ถ้าหากท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอกมาบดบังนะครับ

อย่างไรก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะโชคดีได้เห็นปรากฏการณ์นี้พร้อมๆกันทุกคนนะครับ จะได้ชื่นชมความสวยงามและความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ธรรมชาติด้วยกันครับ แต่หากว่าไม่สามารถจะมองเห็นได้จริงๆ ก็อย่าเพิ่งเสียใจนะครับ เพราะปีนี้ก็ยังมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกหลายอย่างด้วยกัน ทังสุริยุปราคาแบบบางส่วน วันที่ 22 กรกฏาคม และฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต ที่คาดหมายกันว่าน่าจะเป็นปีที่มีอัตราการตกสูงที่สุดและสวยงามที่สุดอีกปีหนึ่ง ประมาณวันที่ 17 - 18 สิงหาคม ปีนี้นะครับ อย่างไรก็ติดตามชมกันต่อไปนะครับ

ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่ายจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย และเว็บไซต์หอดูดาวบัณฑิตครับ
http://thaiastro.nectec.or.th/
http://www.geocities.com/bundid_observatory/

ไม่มีความคิดเห็น: