สักวาดาวจระเข้ก็เหหก
ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว
น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
ลมเรื่อย เรื่อย เฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ
ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
สกุณากาดุเหว่าก็เร่าร้อง
ดูแสงทองจับขอบฟ้าขอลาเอย

Astronomy and Science ความรู้ด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่น่าสนใจ ด้วยอธิบายแบบกันเองๆ ง่ายๆ และสนุกสนาน ให้ได้เรียนรู้และทดลอง และนำไปใช้เป็นสื่อการสอนสำหรับคุณครูที่ทำหน้าที่สอนดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้ที่สนใจได้นำไปศึกษาด้วยตนเอง และนำไปใช้เป็นสื่อการศึกษาเพื่อกระตุ้นความสนใจของตัวเราเองและผู้เรียนได้ครับ
ภาพจากการ์ตูนญี่ปุ่นเซนต์เซย่าที่มีเรื่องของกลุ่มดาวจักราศีและกลุ่มดาวอื่นๆเป็นองค์ประกอบของเรื่อง
การ์ตูนญี่ปุ่น เช่น เรื่อง เซนต์เซย่า (ปัจจุบันยังมีขายทั้งหนังสือการ์ตูนและวีดีโอซีดี) มีการกล่าวถืงตัวการ์ตูนที่ใส่ชุดเกราะ(ชุดครอส)ที่เป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มดาวต่างๆบนท้องฟ้า ซึ่งเรียกได้ว่าแทบจะมีเกือบทุกกลุ่มดาวบนท้องฟ้าเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้แล้วเรายังอาจดูกลุ่มดาวบนท้องฟ้าแล้วลองแต่งเรื่องราวของเราเอง หรือให้คนที่เราทำการสอนลองเขียนเรื่องราวที่เขาคิดจากดาวที่เขารู้จัก หรือให้เด็กๆวาดรูปเป็นเรื่องราวของดวงดาว กลุ่มดาวที่เราได้สอนไปก็ยังได้
สิ่งเหล่านี้จะทำให้การสอนดาราศาสตร์ไม่น่าเบื่อและดูไกลตัวอีกต่อไป
และยังทำให้เราเองและผู้ที่เรียนสนุกไปพร้อมกับการได้รับความรู้ไปโดยไม่รู้ตัว และจะจำได้โดยไม่ลืมง่ายๆ
สำหรับท่านที่ไม่รู้จะไปเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ที่ไหน ผมเองก็อาสาจะตามหามาให้ท่านที่สนใจในตอนต่อๆไปนะครับ
ฝนดาวตกที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีชื่อว่าฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteors shower) หรือฝนดาวตกคนคู่ จะเกิดขึ้นช่วงประมาณ วันที่ 7-15 ธันวาคม ของทุกปี และจะตกมากที่สุดในคืนวันที่ 12-14 โดยจมีอัตราการตก 50-100 ดวงต่อชั่วโมง จุดศูนย์กลางการตก (Radiant) ใกล้กับดาวคัสเตอร์ (Castor) ในกลุ่มดาวคนคู่ (GEMINI)(หาตำแหน่งดาวคนคู่ได้จากโปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium คลิกเพื่อดาว์นโหลดโปรแกรมฟรีครับ)
ภาพจากhttp://www.windows.ucar.edu/asteroids/images/asteroid_3200_phaethon_orbit_sm.gif
เข้าใจว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากแกนกลางของดาวหาง ที่สลายตัวหมดแล้ว กลายเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า แฟทอน(3200Phaethon) ในปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจในฝนดาวตกเจมินิดส์คือจะมีโอกาสให้เราเห็นดาวตกสว่างมากๆ ที่เรียกว่า ลูกไฟ หรือ Fire ball การสังเกตฝนดาวตกนี้ กลุ่มดาวคนคู่จะขึ้นจากขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือเล็กน้อย และในปีนี้จะเริ่มเห็นฝนดาวตกได้ตั้งแต่เวลา 21.00 น.เป็นต้นไป แม้ปีนี้จะมีอุปสรรค์จากการที่เวลาที่เริ่มมีการตกจะมีแสงจันทร์รบกวนค่อนข้างมาก เป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดด้วย และเป็นฝนดาวตกที่มีขนาดของลูกไฟไม่ใหญ่มากเท่ากับฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หรือลีโอนิดส์ แต่ก็มีอัตราการตกต่อชั่วโมงค่อนข้างสูง ถ้าอยู่ในสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิทและไม่มีแสงรบกวนมากเกินไป ก็น่าจะมองเห็นฝนดาวตกกลุ่มนี้ได้ชัดเจนพอสมควร ก็ถือได้ว่าฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่เป็นฝนดาวตกที่น่าสนใจมากอีกกลุ่มหนึ่งเลยครับ
การสังเกตหรือการชมฝนดาวตกนั้นจริงๆแล้วก็สามารถชมได้หลายครั้งต่อปี ตามที่โลกโคจรผ่านแนวการโคจรของดาวหางซึ่งมีอยู่หลายจุด แต่ในแต่ละปีจะมีจำนวนหรือความถี่ของการตกมากน้อยไม่เท่ากัน รวมทั้งช่วงเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ว่าอยู่ในช่วงเวลาไหน เช่นถ้าเกิดฤดูฝนก็จะมองเห็นได้ยากยิ่งขี้น
ปรากฏการฝนดาวตกนั้นจะสามารถสังเกตจากท้องฟ้าได้แทบทุกที่ในประเทศ แต่สำหรับในเมืองใหญ่นั้นก็จะมีโอกาสมองเห็นได้น้อยเนื่องจากมีมลภาวะและฝุ่นผงในอากาศมาก ทั้งยังมีแสงไฟรบกวนอีกด้วย ถ้ามีโอกาสหรือสามรถเดินทางไปเฝ้าชมหรือสังเกตการณ์ในสถานที่ที่ห่างไกลจากเมือง ก็จะทำให้เราสามารถชมปรากฏการฝนดาวตกได้ชัดเจนและสวยงามมากกว่าในเมืองหลายเท่าครับ
ส่วนวิธีการสังเกตฝนดาวตกนั้นก็ คือ ยืนหรือนั่ง(แต่จะให้ที่ดีที่สุดคือควรนอนราบไปเลยครับ) โดยหันหน้าไปทางกลุ่มดาวที่เป็นจุดกำเนิด ในฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ให้มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยในช่วงหัวค่ำ และมองไปบริเวณกลางท้องฟ้าในตอนดึก (กลุ่มดาวที่เป็นศูนย์กลางฝนดาวตกจะขึ้นสูงจากขอบฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆครับ) มองท้องฟ้ารอบกลุ่มดาวกว้างๆ เท่านี้ท่านก็จะได้ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้อย่างมีความสุขแล้วครับ
การเตรียมการชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก
1. เตรียมอุปกรณ์ในการสังเกต ได้แก่
- ไฟฉาย - แผนที่ดาว - เข็มทิศ (ถ้ามี)
- กล้องดูดาว หรือกล้องส่องทางไกล (ถ้ามี)
2. แต่งกายให้รัดกุมและเหมาะสมกับสภาวะ
อากาศ ควรสวมหมวกป้องกันน้ำค้าง
3. เตรียมเสื่อ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาหารและน้ำดื่มตามความเหมาะสม
4. ไม่ควรไปโดยลำพัง ควรไปดูเป็นหมู่คณะ เด็กควรมีผู้ปกครองดูแล
5. รักษาความสะอาด และรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในบริเวณที่ใช้ชมปรากฏการ
**แหล่งข้อมูล**
โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium จาก http://www.stellarium.org
สมาคมดาราศาสตร์ไทย http://thaiastro.nectec.or.th
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ http://www.lesaproject.com/
1. นำเข็มเย็บผ้ามาถูกับแม่เหล็กถาวร(ก็คือแม่เหล็กทั่วๆไปนั่นแหละครับส่วนใหญ่จะเป็นแม่เหล็กถาวรอยู่แล้ว) แนะนำว่าควรถูไปทางเดียวนะครับ เมื่อถูแล้วจะทำให้เข็มกลายเป็นแม่เหล็กไปด้วยครับ
2. นำเข็มที่ถูกับแม่เหล็กแล้วไปเสียบไว้บนกระดาษ หรือแผ่นโฟมเล็กๆ แล้วนำไปลอยในจานใส่น้ำ เข็มก็จะหันไปทางด้านทิศเหนือ-ใต้ ตลอด ไม่ว่าเราจะหันจานไปทางไหนเข็มก็จะยังคงหันไปในทิศทางเดิมเสมอ
แค่นี้ก็ได้เข็มทิศแบบง่ายๆไว้ใช้แล้วครับ ลองทำดูนะครับ หรือถ้าหากใครมีแม่เหล็กแบบแท่งจะใช้วิธีการวางแท่งแม่เหล็กบนโฟมแล้วนำไปลอยในน้ำก็ได้เช่นกัน หรือจะนำไปแขวนด้วยเส้นด้ายก็ได้ครับ แม่เหล็กก็จะหันขั้วของมันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ตลอดเช่นเดียวกันครับ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแม่เหล็กจะถูกสนามแม่เหล็กของโลก(โลกก็เป็นแม่เหล็กอันใหญ่มากอันหนึ่งครับ) ส่งแรงแม่เหล็กมาดูดแม่เหล็กทุกก้อนบนโลกให้หันไปหาขั้วแม่เหล็กของโลกที่อยู่บริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้รับ เพราะฉะนั้นเข็มทิศและแม่เหล็กทุกก้อนเมื่อวางให้หมุนได้อย่างอิสระมันจึงหันขั้วของมันชี้ไปทางทิศเหนือและทิศใต้ตลอดเลยไงครับ ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปหาแม่เหล็กทดลองกันดูเพิ่มเติมได้นะครับ
แหล่งข้อมูล
1. ดร.จันทร์ชัย หญิงประยูร
2.สถาบัน ICASE (Internaitonal Council of Associations for Science Education)
3.ภาพการทำเข็มทิศและข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์วิชาการดอทคอม www.vcharkarn.com
4.ภาพเข็มทิศจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีครับ
ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ
โปรแกรมท้องฟ้าจำลองเป็นโปรแกรมที่ใช้เป็นสื่อการสอนทางดาราศาสตร์ชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการสอนวิชาดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดียิ่งชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมหรือแม้แต่ในปัจจุบันก็อาจจะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าไรนักในการเรียนการสอนดาราศาสตร์ โปรแกรมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกัน เช่น โปรแกรม Starry Night เป็นโปรแกรมท้องฟ้าจำลองที่อาจจะมีใช้อยู่บ้างในสถานศึกษาบางแห่ง และหน่วยงานที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์ เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหามาใช้ในราคาที่ค่อนข้างแพง โดยเฉพาะถ้าเป็นโปรแกรมรุ่นใหม่ๆที่มีระบบการใช้งานหรือรายละเอียดการควบคุมที่ซับซ้อนจะมีราคาตั้งแต่หลักหลายพันบาทจนถึงหลายหมื่นบาทเลยทีเดียว แต่สำหรับโปรแกรมที่จะนำมานำเสนอให้คุณครูและท่านผู้ปกครองได้รู้จักและแบ่งปันกันนำไปใช้กันนี้เป็นโปรแกรมท้องฟ้าจำลองที่แจกฟรีสำหรับนำไปใช้เพื่อการศึกษา มีชื่อเรียกว่า Stellarium มีลักษณะเป็นซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลองแบบ 3 มิติ แสดงภาพท้องฟ้าเหมือนจริง สามารถสภาพของท้องฟ้า ดวงดาว และยังเลือกแสดงเส้นกลุ่มดาว รูปภาพกลุ่มดาว ชื่อของดวงดาวต่างๆ ชื่อกลุ่มดาวที่เป็นกลุ่มดาวสากล รวมถึงจำลองการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า และยังเลือกเวลาและสถานที่ที่ใช้ในการสังเกตได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้สอนดูดาวประกอบท้องฟ้าจริง หรือใช้สอนประกอบการใช้แผนที่ดาว ถ้าท่านที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโปรแกรมนี้ ที่ http://www.stellarium.org
สำหรับโปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium จะไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ http://www.stellarium.org เลยก็ได้ครับ หรือดาวน์โหลดจากลิงค์ข้างล่างนี้ได้เช่นกันครับ
http://www.ziddu.com/download/2855540/stellarium.rar.html
สำหรับคู่มือการใช้งานภาษาไทยนี้เป็นผลงานของ อ.วิเชียร เพียงโงก ร่วมกับ อ.ฐากูร เกิดแก้ว และเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการ LESA ก็ขอให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษานะครับ และเวลานำไปใช้ก็อย่าลืมอ้างอิงแหล่งที่มาและผู้จัดทำด้วยนะครับ
http://www.ziddu.com/download/2855583/how_to_use_stellarium-v0.9.0.doc.html
หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของทุกท่านที่จะนำไปศึกษาและทดลองใช้แล้วนะครับ จะให้ดีก็ควรจะศึกษาพื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์เพิ่มเติมด้วยนะครับจะได้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งผมเองก็จะพยายามหาขอมูลทางด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมานำเสนอให้ทุกท่านได้ร่วมกันศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยๆครับ หากมีคำถามหรือจะแนะนำหรือติชมใด้ๆก็แนะนำมาได้เลยครับ เพื่อที่เราจะได้ศึกษาไปพร้อมๆกัน ผมเชื่อว่าการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กันจะเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของเราได้ดีที่สุด โดยพูดคุยกันผ่านระบบความคิดเห็นหรืออีเมลและMSN ได้ที่ orca_hamoo18@hotmail.com ครับ ดาราศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่ยาก และเป็นวิชาที่น่าสนใจมากๆจริงๆครับ อยากให้ทุกท่านได้ลองศึกษากันดูครับ
เว็บไซต์โปรแกรมท้องฟ้าจำลอง Stellarium http://www.stellarium.org
เว็บไซต์โครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ http://www.lesa.in.th